เนื้อหาวันที่ : 2008-03-05 11:22:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1589 views

จุฬาฯ ลุยวิจัยนำขยะเก่ากลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

กฟผ. เจียดงบประมาณเกือบ 30 ล้านบาท หนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและพัฒนา "โครงการนำร่องสาธิตการแก้ไขปัญหาหลุมขยะเก่า โดยนำกลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า" หนุนนโยบายพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานและแก้ไขปัญหาหลุมขยะเก่า โดยใช้เวลาวิจัยและพัฒนา 2 ปี

.

กฟผ. สนับสนุนงบประมาณเกือบ 30 ล้านบาท ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและพัฒนา "โครงการนำร่องสาธิตการแก้ไขปัญหาหลุมขยะเก่า โดยนำกลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า" สนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานและแก้ไขปัญหาหลุมขยะเก่า โดยใช้เวลาวิจัยและพัฒนา 2 ปี

.

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ศาสตราจารย์คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในสัญญารับทุนวิจัยและพัฒนา โครงการนำร่องสาธิตการแก้ไขปัญหาหลุมขยะเก่า โดยนำกลับมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ. บางกรวย จ. นนทบุรี

.

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานทดแทน เพราะตระหนักถึงสถานการณ์ ด้านพลังงานในปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมากขึ้นและเชื้อเพลิง ดังกล่าวมีราคาสูงขึ้น การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา โครงการนำร่องสาธิตการแก้ไขปัญหาหลุมขยะชุมชนเก่าโดยนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ของจุฬาฯ

.

นับเป็นเป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานสามารถนำพลังงานจากขยะ ซึ่งถือเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่งมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดการนำเข้าพลังงานจาก ต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างนักวิจัยให้กับประเทศ

.

สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำพลังงานทดแทนจากขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าและปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นโครงการต้นแบบด้านการจัดการขยะเก่าจากหลุมขยะ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมขยะฝังกลบสู่บรรยากาศ ซึ่งนำไปสู่การลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้

.

นอกจากนี้ กฟผ. ยังสามารถนำโครงการวิจัยนี้ไปขยายผลให้กว้างขวางขึ้น โดยการสาธิตและเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและชุมชนอื่น โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของชุมชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีถูกสุขลักษณะ สำหรับงบประมาณที่ กฟผ. สนับสนุนโครงการวิจัยนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 29,345,580 บาท ใช้เวลาในการดำเนินงานวิจัย 2 ปี