เนื้อหาวันที่ : 2008-03-05 09:08:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1380 views

3 การไฟฟ้า ระดมสมอง รับ พรบ.พลังงานฉบับใหม่

คณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมประชุมประสานความร่วมมือเพื่อปรับปรุงระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความมั่นคง ตอบรับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

คณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมประชุมประสานความร่วมมือเพื่อปรับปรุงระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความมั่นคง ตอบรับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 

.

กฟผ. จัดประชุมคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ครั้งที่ 28 โดยมีผู้แทนจากการ กฟผ. กฟน.และ กฟภ.เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานงานพัฒนาคุณภาพไฟฟ้า (Power Quality) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดผลกระทบจากการดำเนินการด้านผลิตและจำหน่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า

.

นายรัตนพงษ์ จงดำเกิง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า 3 การไฟฟ้า เปิดเผยว่า กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านระบบผลิต จัดส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ได้ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพไฟฟ้า

.

ทั้งด้านระบบส่งและระบบจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ ก่อนส่งต่อไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี โดยตั้งเป็นคณะทำงาน 5 ด้าน คือ คณะทำงานปรับปรุงระบบป้องกัน คณะทำงานด้านมาตรฐานอุปกรณ์และการบำรุงรักษา คณะทำงานประเมินระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า คณะทำงานศึกษาและกำหนดค่าที่เหมาะสมของ Power Quality และคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์

.

นายรัตนพงษ์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ได้หารือถึงการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงาน  ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้แยก งานนโยบาย งานกำกับดูแล และการประกอบกิจกรรมพลังงานออกจากกัน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน  และประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้ การดำเนินงานด้านการจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์)

.

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านระบบสื่อสารเพิ่มอีก 1 คณะ เพื่อให้การประสานงานของ 3 การไฟฟ้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์การอนุญาตให้เอกชนสามารถส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้าระบบส่งของ กฟผ. และระบบจำหน่าย โดยคณะกรรมการฯ ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและข้อปฏิบัติ     เพื่อนำเสนอต่อเรกูเลเตอร์ให้พิจารณาตัดสินใจ และในมาตรา 89

.

ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่ได้กำหนด ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการให้บริการตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด และในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ให้เอกชนหรือผู้รับใบอนุญาตต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้พลังงานตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

.

รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการปรับปรุงการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าจาก กฟผ.      ไปยัง กฟน. ในการเตรียมความพร้อมรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2552-2553 คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ในปี 2552 และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ  ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ในปี 2553 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปีให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ