โซล่าตรอน ชี้ ปีนี้รายได้ไม่โตขึ้นกว่าปีก่อนที่ 1.3 พันล้านบาท ช่วงสุญญากาศที่รอรัฐบาลใหม่เบิกจ่ายงบฯล่าช้าเงินหายไป 300-500 บาท หันไปพึ่งส่งออก เร่งเตรียมลงทุนทุกรูปแบบ คาดใช้เงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ไม่เกิน 3 พันล้านบาท มั่นใจสามารถสู้ เอกรัฐ ได้สบาย
โซล่าตรอน ชี้ ปีนี้รายได้ไม่โตขึ้นกว่าปีก่อนที่ 1.3 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศที่ต้องรอรัฐบาลใหม่ ทำให้การเบิกจ่ายงบฯล่าช้า ระบุ ทำเงินหายไปไม่ต่ำกว่า 300-500 ล้านบาท หันไปพึ่งส่งออกมากขึ้น สนใจที่จะลงทุนทุกรูปแบบทั้งประมูลและเป็นผู้ติดตั้งให้ คาดใช้เงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ไม่เกิน 3 พันล้านบาท มั่นใจสามารถสู้ เอกรัฐ ได้สบาย |
นายดุสิต เครืองาม กรรมการบริหาร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซล่าตรอน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ รายได้ของบริษัทโซล่าตรอนคาดว่าคงจะไม่ต่ำไปกว่ารายได้เมื่อปีก่อนที่ประมาณ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งไม่โตขึ้นเนื่องจากเจอปัญหาในช่วงรอรัฐบาลใหม่ที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆล่าช้า ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดหายไปประมาณ 300-500 ล้านบาท ทางบริษัทฯจึงแก้ไขด้วยการขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เพราะในตลาดส่งออกยังมีความต้องการโซล่าเซลล์สูง เฉลี่ยแล้วถือว่ามีอัตราการเติบโตถึง 40 %ต่อปี ส่วนในประเทศก็เร่งทำแผนการตลาดใหม่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น |
|
ทั้งนี้ ยังมีตลาดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน(อาร์พีเอส) ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้มีพลังงานหมุนเวียน(อาร์พีเอส) 5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 4 แห่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน 140 เมกะวัตต์ และในส่วนนี้ก็มีพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์)ที่จะเปิดประมูลให้เอกชนทำแล้วขายต่อให้ กฟผ.รวมอยู่ด้วย 10 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเชิญชวน และอีกส่วนที่ กฟผ.จะเป็นผู้ทำเองในการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคารอีก 1 เมกะวัตต์ |
เราสนใจที่จะทำทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของการประมูลและเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคาร ซึ่งการจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 11 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนเรื่องพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะจะใช้พื้นที่ไม่เกิน 200 ไร่ ซึ่งไม่มีปัญหาในการลงทุนแต่อย่างใดแต่ติดอยู่ที่ข้อกำหนดของ กฟผ.เท่านั้นว่าจะให้ไปติดตั้งและอยู่ที่ไหนบ้างนายดุสิต กล่าว |
สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดของโซล่าตรอนในขณะนี้อยู่ที่ 80% ของตลาด และการที่มีบริษัทรายอื่นสนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้ด้วยก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการแข่งขันเพิ่มและยังทำให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้มีผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์อยู่ 5 รายได้แก่ บริษัทโซล่าตรอน จำกัด(มหาชน) บริษัทเอกรัฐวิกรม จำกัด(มหาชน) บริษัทบางกอกโซล่า จำกัด บริษัทไทยเอเย่น เอ็นเนอร์ริ่ง และบริษัทชาร์ป เทนเนอคอน จำกัด |
นายดุสิต กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคานั้น บริษัทฯสามารถสู้ได้แน่นอน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น เพราะบริษัทฯดำเนินธุรกิจนี้มานานหลายสิบปีแล้ว จนมีความชำนาญ และยังมีเทคโนโลยีที่สามารถออกแบบให้ได้เซลล์ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์หรือไม่เกิน 20 บาทต่อหน่วย |
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อดูตัวเลขที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาปรับขึ้นไปแล้ว 10% ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปภายใน 5-6ปีข้างหน้าก็อาจจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 8 บาทต่อหน่วย และอนาคตอาจจะขึ้นไปอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วยก็ได้ จากเดิมที่ปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย |