รมต.พลังงาน ส่งมอบ 5 นโยบายเข้มข้น ไปสู่ภาคปฏิบัติที่เข้มแข็ง เร่งการจัดหาพลังงานทางเลือกอื่น กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง เพื่อลดการใช้และนำเข้าน้ำมัน ลุยกำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม คุ้มครองด้านความปลอดภัยผู้บริโภค
จัดการปัญหาโลกร้อน พร้อมส่งมอบ 5 นโยบายเข้มข้น ไปสู่ภาคปฏิบัติที่เข้มแข็ง ให้แก่ข้าราชการนำไปปฏิบัติ ยันกระทรวงพลังงานเตรียมทำงานหนัก สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เร่งการจัดหาพลังงานทางเลือกอื่น กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง เพื่อลดการใช้และนำเข้าน้ำมัน กำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม คุ้มครองด้านความปลอดภัยผู้บริโภค มั่นใจเดินหน้า แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล เอ็นจีวี เป็นพลังงานทดแทนหลักของไทย และส่งเสริมพลังงานสะอาดรอบด้าน คู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หวังภาคเอกชน ประชาชน ร่วมมือผลักดันการอนุรักษ์พลังงานไปสู่การลดใช้พลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต |
. |
พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าว ถึงการมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการกระทรวงพลังงาน ในวันนี้ (27 ก.พ.51) ว่า กระทรวงพลังงาน นับเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีภารกิจเร่งด่วนในการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อม ในวันนี้จึงได้ส่งมอบนโยบายสำคัญ ๆ แก่ข้าราชการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น 5 นโยบาย ได้แก่ |
. |
1. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการจัดหาพลังงานให้พอเพียงต่อการพัฒนาของประเทศ โดยจะเร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันภายในประเทศจาก 200,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 250,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 เป็น 35% ภายในเวลา 4 ปี การจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อรักษาให้มีปริมาณสำรองก๊าซอย่างน้อย 30 ปี |
. |
โดยจะเดินหน้าเร่งรัดการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อยุติเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา การจัดหาไฟฟ้า ให้มีการกระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินสะอาด พลังน้ำ และให้ความสำคัญกับ เอกชนทั้ง IPP/SPP/VSPP ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทดแทน |
. |
นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้ กฟผ. รักษากำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ และให้รักษาระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศให้เหมาะสมตามมาตรฐานสากลที่ประมาณ 15% ด้วย สำหรับแนวทางการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นั้น มีความจำเป็นต้องศึกษาต่อไปอย่างรอบด้านและให้ความรู้แก่ประชาชนโดยละเอียด และต้องมีการยอมรับจากประชาชน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในอนาคตด้วย |
. |
2. ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้มีราคาที่เป็นธรรม ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน รวมทั้งคุ้มครองด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ราคาพลังงานของไทย ต้องไม่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และเหมาะสมกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจ ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ที่จะต้องมีการพิจารณาบนฐานที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจใด ๆ |
. |
นอกจากนี้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะเน้นในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ผลักดันในเรื่องความปลอดภัยสูง ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงจากการใช้พลังงาน(Absolute Zero Accident) และผลักดันให้มีสำนักงานพลังงานจังหวัดครบทุกจังหวัดเพื่อเป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายพลังงานในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ก็พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (Regulator) ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกรอบนโยบายรัฐบาล |
. |
3. ส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเน้นการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ใช้ทดแทนน้ำมัน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 95, 91 (E10) และ แก๊สโซฮอล์ E20 ผลักดันให้เกิดการใช้เพิ่มขึ้น จาก 7 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 12 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2551 และในโอกาสหน้าอาจมีการพัฒนาสู่ E85 เพื่อรองรับปริมาณการผลิตเอทานอลที่มีพอเพียง ตลอดจนเป็นการยกระดับสินค้าการเกษตร สำหรับเรื่องไบโอดีเซล เร่งรัดให้มีการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาด้านวัตถุดิบอย่างบูรณาการ |
. |
พร้อมทั้งเร่งรัดการใช้ B5 ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นนอกจากการใช้ B2 ในปัจจุบัน และในอนาคตอาจขยายไปสู่ B10 ถ้ามีความพร้อมเพียงพอ สำหรับการใช้ก๊าซเอ็นจีวี(NGV) ได้ตั้งเป้าหมายให้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ รถที่ใช้บริการสถานีเอ็นจีวีจะมีความสะดวกยิ่งขึ้น และคิวรอบริการจะต้องลดลง 1 ใน 3 เข้มงวดให้มีก๊าซเอ็นจีวีจำหน่ายเพียงพอ ตลอดจนเร่งรัดเปลี่ยนเครื่องยนต์รถแท็กซี่ให้เป็นเอ็นจีวี ภายในปีนี้ 20,000 คัน และให้แล้วเสร็จทั้งหมด 50,000 คันภายในปี 2552 และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ NGV ในภาคขนส่งให้ได้ 20% ภายใน 4 ปี |
. |
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนอื่นๆ ภายใต้แนวคิด พลังงานเพียงพอ ด้วยพลังงานพอเพียง โดยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานทดแทน (REDP) รองรับในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ครบวงจร ทั้งด้านการวิจัย พัฒนาต้นแบบ มาตรการสนับสนุนเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนให้เริ่มต้นโครงการหมู่บ้านพลังงานนำร่องในทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง |
. |
4. ส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยภาพรวมทั้งประเทศโดยปรับเป้าหมายการประหยัดพลังงานจาก 11% เป็น 20% ให้ได้ภายในปี 2554 และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคประชาชน อาทิ ปรับปรุงการใช้พลังงานต่อผลผลิต (Energy Intensity) ในภาคอุตสาหกรรม ยกเลิกการใช้หลอดไส้ทั่วประเทศจำนวน 30 ล้านหลอด ภายในปี 2553 รวมทั้งเปลี่ยนหลอดผอมใหม่เบอร์ 5 แทนหลอดผอมเดิม 110 ล้านหลอด ภายในปี 2555 เร่งรัดกระบวนการติดฉลากเบอร์ 5 |
. |
โดยเฉพาะในเครื่องปรับอากาศทุกเครื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดฉลากแล้ว ให้สูงขึ้นอีก 5 – 10% ภายในปี 2555 และกำชับให้ออกกฎกระทรวง 4 ฉบับว่าด้วย Building Energy Code โดยเร็วและบูรณาการร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนาและกรมการศาสนา ในการพัฒนาให้วัด โบสถ์ มัสยิด เป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านพลังงาน ตลอดจนการเพิ่มมาตรการและสร้างแรงจูงใจมากขึ้น |
. |
โดยการขยายสินเชื่อจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสู่ภาคครัวเรือน เพื่อให้ประชาชน ประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้น 10% รวมทั้งขอความร่วมมือสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ในการจัดสินเชื่อพลังงานให้กับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะขอกู้เงินสำหรับโครงการที่จะทำให้มีการประหยัดพลังงานด้วย |
. |
5. ส่งเสริมการพัฒนา ผลิต และการใช้พลังงานคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานที่สะอาด ซึ่งถือนโยบายที่มีความสำคัญ โดยจะเร่งการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ต่อ 1 หน่วยพลังงานที่ใช้ในทุกภาค เช่นภาคขนส่ง ภาคการกลั่นภาคการผลิตไฟฟ้าและตั้งเป้าหมายลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction Target) ของกลุ่ม ปตท. กฟผ. บางจาก |
. |
และบริษัทในเครือ ลดให้ได้ 20% ตลอดจนส่งเสริมโครงการด้านพลังงานของไทยให้เข้ารับรองตามกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด หรือ CDM โดยเพิ่มเป้าหมายที่จะลดปริมาณ CO2 ให้ได้ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกคาร์บอนเครดิตในเอเชีย อีกด้วย |
. |
พลโทหญิง พูนภิรมย์ กล่าวสรุปว่า "นโยบายที่เข้มข้นด้านพลังงานนี้ จะช่วยให้ประเทศและคนไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เป็นธรรมในระยะยาว อีกทั้งเป็นการวางรากฐานให้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง" |