กทม. ตื่นโลกร้อนเตรียมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว พร้อมดึงแหล่งทุนสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด พลังงานทางเลือก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี แก้ไขปัญหาโลกร้อน ขยายผลนโยบายสู่การปฏิบัติ
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ นำยุทธศาสตร์ลดโลกร้อนกรุงเทพฯ เสนอต่อที่ประชุมโลก เป็นตัวอย่างจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว พร้อมดึงแหล่งทุนสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด พลังงานทางเลือก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี แก้ไขปัญหาโลกร้อน และเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน หาข้อสรุปลดโลกร้อนระดับภูมิภาค ขยายผลนโยบายสู่การปฏิบัติ |
. |
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเชิญจากองค์การสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP (United Nations Environment Programme) ให้ขึ้นกล่าวเปิดเวทีการประชุมหัวข้อ การขับเคลื่อนเงินทุนในมุมมองของท้องถิ่น หรือ Mobilizing Capital – the Local Perspective พร้อมทั้งนำเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานและกิจกรรมรณรงค์ลดโลกร้อนของกรุงเทพมหานครให้แก่รัฐมนตรีและผู้เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้เห็นถึงตัวอย่างความร่วมมือในการลดโลกร้อนของกรุงเทพมหานครและเครือข่ายภาคี 36 องค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขับเคลื่อนของเมืองหลวง และมิติการดำเนินงานระดับท้องถิ่น |
. |
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการนำเสนอแนวทางลดโลกร้อนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ให้แก่รัฐมนตรีและผู้แทนจากทั่วโลกรับทราบถึงตัวอย่างแนวคิดของกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นองค์กรบริหารงานระดับเมือง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน และประชาชน ในการกำหนดแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนระยะ 5 ปี ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 15% ภายใน 5 ปีหรือตั้งแต่ ปี 2549 -2554 ตลอดจนการจับมือกับแหล่งทุนและภาคเอกชนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด การผลิตรถและเครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน |
. |
และพลังงานทางเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งเดินหน้านโยบายลดโลกร้อน อาทิ การลดใช้ไฟฟ้าและพลังงานตามสำนักงาน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ตลอดจนการณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นการดึงการมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ อาทิ UNEP ธนาคารโลก (World Bank) ตลอดจนมูลนิธิคลินตัน (Clinton Foundation) และ ESCOs ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น |
. |
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ด้วยว่า นอกจากนานาชาติจะได้รับทราบถึงแนวคิดการดำเนินงานลดโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเมืองต่างๆ ในทุกภูมิภาคแล้ว ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครก็ได้รับประสบการณ์จากการร่วมประชุมระดับนานาชาติ และนำแนวทางในระดับนโยบายนี้ไปปรับใช้และรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการลดโลกร้อนต่อไป |
. |
ทั้งนี้ผู้จัดการประชุมได้เชิญตัวแทนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน อาทิ Mr.Fernando Ibanez ผู้บริหารจาก Saguapac แห่งโบลิเวีย ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาน้ำสะอาดคุณภาพดีให้ผู้อยู่อาศัยในโบลิเวีย และเป็นบริษัทจัดหาน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก Mr.Andrew Etwire ผู้บริหารจาก Power World Limited แห่งกานา บริษัทอิเล็คทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของประเทศกานา Ms.Barbara James ผู้บริหารสถาบันการเงิน Henshaw Capital Partners แห่งแอฟริกาใต้ ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของแหล่งทุนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ร่วมถึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการที่จะขับเคลื่อน และร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างยั่งยืน |
. |
นอกจากนี้ในที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกัน ให้มีการยกระดับการรับรู้ และสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และเกิดความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น อีกประการหนึ่งคือ ดึงการสนับสนุนทางด้านการเงินจากองค์กรภาคธุรกิจ และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งหลายประเทศใช้รูปแบบการลงทุนโดยไม่ต้องพึ่งพิงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพื่อให้การเดินหน้าจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้รับความร่วมมือและเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว |
. |
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เปิดเผยอีกว่า กรุงเทพมหานครได้หารือกับ UNEP และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการลดโลกร้อนในระดับภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่2 ของปี โดยเชิญนายกเทศมนตรี และผู้นำเมืองต่างๆ ในอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมด้วยประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ตลอดจนองค์กรเอกชน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานระดับอาเซียน |
. |
โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและก้าวไปสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งยังเป็นการขยายผลการประชุมระดับนโยบายในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน ซึ่งรายละเอียดและความคืบหน้าการจัดประชุมจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป |