เนื้อหาวันที่ : 2008-02-20 13:49:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1447 views

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ม.ค. 51 พุ่งสูงสุดรอบ 8 เดือน รับนโยบายรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มกราคม 2551 ทะยานพุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือน เหตุนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น พบว่า อุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มกราคม 2551 ทะยานพุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือน เหตุนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น พบว่า อุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

.

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 620 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.0 จาก 79.8 ในเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

.

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ ยานยนต์ และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งได้รับผลบวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี เนื่องจากการปรับขึ้นของเงินเดือนและโบนัสประจำปีในสถานประกอบการต่างๆ นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศแม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงมากจนส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1.25% ในเดือนมกราคม 2551 แต่ตลาดยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอาเซียนยังคงขยายตัวดีอยู่

.

ทั้งนี้ค่าดัชนีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 102.6 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนธันวาคม 2550 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในนโยบายและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาลชุดใหม่ และทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีความชัดเจน นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศและให้ความสำคัญกับนโยบายเปิดตลาดใหม่มากขึ้น

.

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับผลจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่เพิ่มขึ้น และผลบวกจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าขายที่ช่วยลดผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้า ส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

.

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับผลจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าสูงขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศหลายตลาดยังมีการเติบโต เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อาเซียน แม้ว่าตลาดสหรัฐอเมริกาจะมีการชะลอตัวก็ตาม

.

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ณ เดือนมกราคม 2551 พบว่า ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหา Sub prime ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วยปัจจัยการเมืองในประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ แต่ความกังวลในปัจจัยต่างๆ ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

.

ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนและลดต้นทุนการผลิต เร่งการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ ลดอัตราภาษีการนำเข้าเครื่องจักร ลดอัตราภาษีนิติบุคคล ส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ จัดเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร วิทยาการใหม่ๆ ของการผลิตสินค้าหรือเครื่องจักรต่างๆ ให้ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ