เนื้อหาวันที่ : 2008-02-20 09:26:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1237 views

เอสเอ็มอี แบงก์ จับมือ JASME ดัน SMEs อาหาร - ยานยนต์ไทยลุยญี่ปุ่น

เอสเอ็มอี แบงก์ เดินหน้าลุยตลาดญี่ปุ่น รุกเจรจา JASME ทำ Business Matching ดันอุตสาหกรรมอาหารและยานยนต์ ดีเดย์ 28 ก.พ. คัดเลือกคุณสมบัติผู้ประกอบการอุตฯ อาหารไทยที่มีความพร้อมค้าขายกับญี่ปุ่น

เอสเอ็มอี แบงก์ เดินหน้าลุยตลาดญี่ปุ่น รุกเจรจา JASME ทำ Business Matching ดันอุตสาหกรรมอาหารและยานยนต์ ดีเดย์ 28 ก.พ. คัดเลือกคุณสมบัติผู้ประกอบการอุตฯ อาหารไทยที่มีความพร้อมค้าขายกับญี่ปุ่น

.

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารมีนโยบายแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตลาดญี่ปุ่น ทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศและต่างประเทศ ก้าวต่อไปธนาคารจะผลักดันความร่วมมือทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น ด้วยการจัดทำโครงการ Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งมีหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น “JASME” (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprise) ให้การสนับสนุน

.
"ขณะนี้ เอสเอ็มอี แบงก์ ได้มีการหารือกับ JASME สาขาประเทศมาเลเซีย ถึงแนวทางการจัดทำ Business Matching คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2551 ที่ประเทศไทย โดยธนาคารจะเจรจาพูดคุยถึงความร่วมมือกันในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย อย่างไรก็ตาม การเข้าไปทำตลาดญี่ปุ่น ไม่ยากและก็ไม่ง่าย สิ่งสำคัญคือ คุณภาพของสินค้า กำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ และ ระยะเวลาการส่งมอบที่ชัดเจนทันเวลา เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จการทำตลาดญี่ปุ่น"
.

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งธนาคารจะมีการสัมมนากลยุทธ์ SMEs ไทย ไปตลาดญี่ปุ่นสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหาร ที่สนใจส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 28 ก.พ. 51 ที่ศูนย์ประชุมวิจัยจุฬาภรณ์ ธนาคารจะกลั่นกรองลูกค้ารายที่มีศักยภาพ เพื่อหาผู้ประกอบการที่มีความพร้อมตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ก่อนจึงจะส่งเข้าร่วม Business Matching กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นต่อไป

.

ด้านนายครรชิต ศิริภักดี อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรมประจำประเทศญี่ปุ่น และออสเตรีย ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาล คนญี่ปุ่นชื่นชอบอาหารไทยมากโดยเฉพาะในเรื่องของรสชาติอาหารไทย สิ่งสำคัญต้องมองตลาดให้เป็น เช่น คนญี่ปุ่นมีความเร่งรีบ อาศัยในห้องพักที่ไม่มีอุปกรณ์ทำอาหาร ดังนั้น อาหารไทยจึงต้องพัฒนาทั้งรูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่น นอกจากนี้สินค้าจะต้องมีคุณภาพ สะอาด มีความเป็นธรรมชาติ ถึงจะเข้าไปตลาดญี่ปุ่นได้