เนื้อหาวันที่ : 2008-02-19 11:30:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4866 views

บทบาทสำคัญของเทคโนโลยีต่อการบริหารต้นทุนทางกิจกรรม การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร

การกระจายต้นทุน เป็นคำที่นักบริหารต้นทุนไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วนั้น บ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียม และการขาดหลักการที่ดีในการบริหารต้นทุนในทางการเงินขององค์กรอย่างยิ่ง

.

ความหมายของ ABM (Activity-Based Management)

อยากให้คุณลองจินตนาการว่า คุณและเพื่อนของคุณอีกสามคนเดินเข้าไปในภัตตาคารแห่งหนึ่ง คุณสั่งชีสเบอร์เกอร์ธรรมดาๆ ในขณะที่เพื่อนของคุณสั่งเมนูซี่โครงหมูอบอย่างหรู และแล้วเมื่อถึงเวลาเรียกเก็บเงิน เพื่อนๆของคุณบอกคุณว่า "เรามาหารค่าใช้จ่ายให้เท่าๆกันเถอะ" คุณจะรู้สึกอย่างไรบ้าง

 

นั่นก็คล้ายๆกับการที่แต่ละแผนกหรือแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ในองค์กรจะรู้สึกได้ เมื่อฝ่ายการเงินบันทึกต้นทุนจํานวนมหาศาล เช่น ค่าใช้จ่ายทางอ้อม และค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทั่วไป (overhead expenses) โดยกระจายไปเป็นต้นทุนส่วนรวมให้เท่าๆกันในแต่ละแผนกที่ทุกฝ่ายจะต้องแบกรับ โดยที่ไม่ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงอย่างมีเหตุผล ไม่มีการเชื่อมโยงถึงค่าใช้จ่ายในแต่และกลุ่มผลิตภัณฑ์ หน่วยบริการ หรือผู้ใช้อย่างจริงๆจัง ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างอยุติธรรมสําหรับแต่ละแผนก   Activity-based cost management (ABC/M) จึงเข้ามามีบทบาทสําคัญในการทําให้การบริหารต้นทุนกิจกรรมได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับพนักงานในภัตตาคารได้แยกค่าใช้จ่ายจริงๆของคุณและเพื่อนของคุณให้ 

 .

โดยทั่วไปแล้วคําว่า การกระจายต้นทุน (cost allocation) เป็นคำที่นักบริหารต้นทุนไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วนั้น บ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียม และการขาดหลักการที่ดีในการบริหารต้นทุนในทางการเงินขององค์กรอย่างยิ่ง

 .

ทําไมผู้บริหารในแต่ละแผนกต่างก็ไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการบริหารต้นทุนขององค์กรของตนเอง ผู้เขียนเองมักได้ยินการร้องเรียนจากผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการว่า "คุณทราบไหมว่า พวกเราคิดอย่างไรกับระบบบริหารต้นทุนขององค์กร? มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก แต่พวกเราก็ต้องถูกมัดมือชก จําใจที่จะต้องยอมรับมัน ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าเศร้าที่นักบัญชีส่วนใหญ่แล้วให้ความสนใจเฉพาะตัวเลขโดยรวมเท่านั้น แต่ไม่มีความสนใจในรายละเอียดแต่ละส่วนที่รวมเป็นตัวเลขนั้น ๆ เลย"

 .

ผู้บริหารหลายๆแผนกต่างก็มีความเหนื่อยหน่ายใจกับหลักการกระจายต้นทุนนี้ โดยสรุปก็คือ นักบัญชีได้ฝ่าฝืนกฏแห่งความสมดุลย์ระหว่างค่าใช้จ่ายที่เกิดจากแผนกหรือส่วนที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจริงๆ กับต้นทุนทางกิจกรรม โดยที่นักบัญชีมักดูปัจจัยต่างๆในมุมกว้างเท่านั้นโดยที่ไม่ได้ดูถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

 .

เรามักจะได้ยินประโยคแรกเริ่มของ ABC/M ว่า การประมาณค่าที่ถูกต้องนั้น ดีกว่าได้ค่าที่แม่นยําแต่ไม่ถูกต้องเลย ซึ่งหลายๆท่านมักจะนั่งอมยิ้ม เพราะทราบว่ามันหมายถึงอะไรในองค์กรของท่านบ้าง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หลายๆองค์กร ผู้บริหารและพนักงาน ใช้ข้อมูลที่มาจากฝ่ายบัญชีเพื่อการสรุปผลทางธุรกิจ และใช้ในการตัดสินใจ ทั้งๆที่ยังเกิดความกังขาในความเป็นจริงของตัวเลขของข้อมูลที่ได้มา

 .

ABC/M นั้นสามารถเป็นได้มากกว่าการเรียกดูค่าใช้จ่ายและต้นทุนอย่างง่ายๆ แต่องค์กรนั้นสามารถเรียกดูข้อมูลในแง่ของการวิเคราะห์เชิงลึกของต้นทุนในองค์กรได้ และคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจได้อย่างแม่นยํามากขึ้น ในขณะที่บุคคลากรในองค์กรนั้นต่างก็มีมุมมองที่ว่า นักบัญชีนั้นมักจะคํานวณในสิ่งที่ง่ายต่อการคํานวณเท่านั้น แต่ไม่ได้คำนวณในสิ่งที่ควรจะคํานวณ มีเพียงนักบัญชีที่มีวิสัยทัศน์ในการ บริหารเท่านั้นที่จะมองภาพรวมและไม่ปิดกั้นผู้บริหารและองค์กรให้เห็นมุมมอง และต้นทุนที่เกิดขึ้นแท้จริงได้

 .

การพัฒนาปรับปรุงองค์กรนั้นจะมีความหมายได้ในหลายๆแง่มุม ในจํานวนนี้ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารคุณภาพ (Total Quality Management) และนวัตกรรมการปรับปรุงขั้นตอนของการทําธุรกิจ (Business Process Reengineering – BPR) ต่างก็มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง และต้องการสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานในทุกๆวัน   ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โปรแกรมการพัฒนาปรับปรุงองค์กรเหล่านี้ จะเน้นสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

 .

- ขั้นตอนการบริหารงาน มากกว่าจะเน้นที่ทรัพยากร

- การขจัดสิ่งที่ไม่จําเป็น

- การปรับปรุงขั้นตอนการทําธุรกิจเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า เร็วกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริการเพื่อลูกค้า

- การกระตุ้นให้พนักงานมีการเปลี่ยนแปลง หรือการสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น

 .

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหลายๆองค์กรมักประสบกับอุปสรรคในการนำเทคนิคของการปรับปรุงไปใช้ ซึ่งก็คือไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการทํางาน และความสัมพันธ์กับการบริการ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ให้กับลูกค้าแต่ละหน่วยได้

 .

ในอดีต องค์กรสามารถสร้างผลประกอบการที่มีกําไร ทั้งๆที่หลักการคํานวณต้นทุนในแบบที่เท่าๆกันนั้นอาจจะส่งผลให้มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ แต่เมื่อหลายๆองค์กรต้องเผชิญหน้ากับสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น เฉกเช่นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบันนี้ องค์กรต่างๆไม่สามารถรับภาระกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่สามารถสร้างผลกําไร หรือ ลูกค้าที่ไม่ก่อให้เกิดผลกําไร โดยหวังที่จะให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างผลกําไรช่วยให้ผลประกอบการในภาพรวมมีกำไรได้อีกต่อไปแล้ว  องค์กรเหล่านี้จึงยากที่จะอยู่รอดได้ด้วยการทําการกระจายต้นทุนให้เท่าๆกัน และการขาดความชัดเจนในการคำนวณต้นทุนในขั้นตอนการทําธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทำงาน

 .

ในปัจจุบันนี้ หากการทำธุรกิจเกิดความผิดพลาดเหมือนอย่างในอดีต คงไม่สามารถที่จะรักษาไว้ซึ่งศักยภาพในการแข่งขันได้อีกต่อไป  การทําใบเสนอราคา การตัดสินใจในการลงทุน การสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ในสายการผลิตต่างๆ  การตัดสินใจในการลงทุนด้านเทคโนโลยี การใช้บริการจากภายนอก เทียบกับการตัดสินใจในการสั่งซื้อ ทุกๆสิ่ง ต้องการข้อมูลและการตัดสินใจที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น ในขณะที่คู่แข่งทางธุรกิจหลายๆองค์กรสามารถที่จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่จะส่งผลถึงค่าใช้จ่าย และปรับให้เข้ากับขั้นตอนการดําเนินธุรกิจ และ ต้นทุนในการทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ (Cost of Quality – COQ) และปรับราคาให้สัมพันธ์กันได้ 

 .

การลดราคาจากการแข่งขันจะทําให้การทําธุรกิจยากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการลดงบประมาณในการใช้จ่ายของภาครัฐ และภาคองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกําไรก็ทําให้การบริหารจัดการลําบากยิ่งขึ้น การรู้จักต้นทุนที่แท้จริงและช่องทางที่มาของต้นทุนเหล่านั้นจึงเป็นกุญแจสําคัญในความอยู่รอดของธุรกิจ ความชัดเจนของการบริหารต้นทุนทางกิจกรรม จะทําให้องค์กรสามารถที่จะบ่งชี้ถึงจุดใดที่จะต้องควบคุมค่าใช้จ่าย และบริหารทรัพยากรที่ไม่ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ ทําให้สามารถเห็นความสัมพันธ์ของโครงสร้างของต้นทุน กับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรได้

 .

ในการลงบัญชีทั่วๆไปนั้น มักจะเป็นการบันทึกว่า "ใช้ไปเท่าไหร่" แต่การคิดต้นทุนทางกิจกรรม หรือ Activity-Based นั้น จะบันทึกว่า ใช้ไปเท่าไหร่และเพื่ออะไรเพื่อดูถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรม ดังนั้นเมื่อพนักงานมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ก็จะทําให้ผู้บริหารสามารถนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และนําองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ดีกว่า

 .

องค์กรที่มีการทํา ABC/M ขั้นสูง อาทิ เช่น บริษัท โคคา-โคล่า พวกเขาจะมุ่งเน้นไปที่จุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ: การทํา ABC/M ไปทั่วองค์กรในระดับภูมิภาค เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ระบบการรายงานการผลิตที่แม่นยํา และ ยังมีการใช้ข้อมูลที่ได้จาก ABC/M เพื่อที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆในองค์กร เช่น Six Sigma (Total Quality Management – TQM) การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) การพัฒนาศักยภาพพนักงาน (core competency) นวัตกรรมการปรับปรุงขั้นตอนของการทําธุรกิจ (Business Process Reengineering - BPR) การตั้งเป้าค่าใช้จ่าย และการบริหารลูกค้าหรือช่องทางที่สามารถสร้างกําไร

 .

องค์กรต่างๆที่มีการใช้ ABC/M ขั้นสูง มักจะรวมถึงสิ่งๆต่างๆดังต่อไปนี้

-  การรวมเอาผลลัพธ์จากการทำ ABC/M เข้ากับระบบการตัดสินใจ (Decision Support System - DSS) เช่น การคาดการณ์ค่าใช้จ่าย การวางแผนคาดการณ์ - -- การวางแผนงบประมาณ การวางแผนระบบกิจกรรม (Activity-Based Planning) ระบบลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และระบบการวัดผลการปฏิบัติการแบบ Balanced Scorecard

- การเรียนรู้และปรับขีดศักยภาพในการจัดขนาด ปริมาณ ระดับ หรือโครงสร้างของระบบ ABC/M ที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ปัญหาธุรกิจใหม่ๆด้วยข้อมูลจาก ABC/M ได้

- การเก็บและนําข้อมูลเข้าระบบ ABC/M แบบอัตโนมัติ

- การนำผลลัพธ์ออกจากระบบ ABC/M แบบอัตโนมัติ

 .

สิ่งต่างๆเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นว่า องค์กรชั้นนําต่างๆที่ใช้ ABC/M ในขั้นสูงได้นํา ABC/M มาเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีเพื่อองค์ความรู้สําคัญทางธุรกิจขององค์กรไปแล้ว

 .
การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (Corporate Performance Management - CPM) คืออะไร และบทบาทสําคัญของการบริหารต้นทุนทางกิจกรรม (Activity-Based Cost/Management -ABC/M) ต่อการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร

การมี กลยุทธ์ คือสิ่งที่สําคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้ความสําคัญเป็นลําดับแรก การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร คือกระบวนการของการบริหาร กลยุทธ์ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรสามารถแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติงานและผลลัพธ์ได้อย่างไร อาจจะมโนภาพไปคล้ายๆกับว่าการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กรนั้นคล้ายๆกับร่มคันใหญ่ที่รวบรวมวิธีการบริหารงานที่ผู้บริหารหลายๆท่านคุ้นเคยอยู่แล้ว ไว้ด้วยกัน

 .

สิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายของการบริหารวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร ก็คือการที่องค์กรนั้นมีศักยภาพในการตัดสินใจได้อย่างแม่นยํา ด้วยข้อมูลที่วัดได้จากผลลัพธ์ ซอฟท์แวร์สมัยใหม่จึงมีส่วนสําคัญอย่างยิ่งในการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กรในรูปของ Web-based ที่ครอบคลุมได้ตั้งแต่ การวางแผนกลยุทธ์ การวางแผนงบประมาณ การคาดการณ์ การวัดผลโดย Balanced Scorecards   การบริหารต้นทุน การจัดทำรายงานทางด้านการเงิน และการวิเคราะห์   CPM ยังรวมถึงการเชื่อมต่อไปยังความต้องการในส่วนต่างๆของธุรกิจ อาทิ เช่น การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) และการบริหารศักยภาพทรัพยากรบุคคล (Human Capital Management) ซึ่งเป็นได้มากกว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลหรือการจ่ายเดือนเงินพนักงานทั่วๆไป  

 .

การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (CPM) จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูงที่รวมไปถึงการเชื่อมต่อของระบบการบริหารธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence – BI) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Analytics) ซึ่งจะส่งผลไปยังการตั้งเป้าหมายองค์กร ความแม่นยําความรวดเร็วในการตัดสินใจ ความเป็นต่อทางธุรกิจ และการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร เช่น การใช้ Lean/Six Sigma เชื่อมโยงไปยังกิจกรรมต่างๆขององค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น

 .
บทบาทสําคัญของการบริหารต้นทุนทางกิจกรรม (ABC/M) ต่อการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (CPM)

การบริหารต้นทุนทางกิจกกรม (ABC/M) จะเป็นเสมือนข้อมูลสำคัญในการเสริมศักยภาพของการบริหารผลการปฏิบัติงานองค์กร ABC/M จึงเป็นตัวสําคัญในการให้ข้อมูลที่แท้จริงในทางการเงินสําหรับผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจที่ดีขึ้น และทําให้ผู้บริหารระดับกลาง และพนักงานได้เข้าใจ ในโครงสร้างของต้นทุนที่เกิดในแต่ละกิจกรรมทางธุรกิจได้ดีขึ้น

 .
การนํา CPM และ ABC/M มาใช้ในธุรกิจในประเทศที่กําลังพัฒนาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงการประยุกต์ใช้เในภาคธุรกิจต่างๆ

ในประเทศที่กําลังพัฒนา เราพบว่า หลายๆองค์กรมีการนําเอาวิธีการต่างๆในการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (CPM) มาใช้ประยุกต์ในธุรกิจอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการนํามาใช้แบบแยกเดี่ยวๆออกจากกัน ซึ่งหมายความว่า องค์กรเหล่านี้มีการวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณแบบง่ายๆ แต่มิได้สอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับการจัดแผนงบประมาณประจําปีโดยแผนกบัญชีเลย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้รวมถึงค่าใช้จ่ายของโครงการหรือสิ่งริเริ่มหรือนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นกุญแจสําคัญที่ต้องมีเพือให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนกลยุทธ์

 .

จริงๆแล้ว หลายๆองค์กรในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และในยุโรปตอนเหนือ ต่างก็นําแม่แบบแผนกลยุทธ์ (Strategy Mapping) และ Balanced Scorecards มาประยุกต์ใช้ในการบริหาร จัดสรรกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้วิธีการของ ABM มาเป็นพื้นฐานในการจัดการทรัพยากร เพื่อที่จะสามารถบ่งบอกถึงศักยภาพในอนาคต และวางแผนการใช้จ่ายได้

 .

หลายๆคนอาจจะคิดว่า ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้มีการใช้การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (CPM) อย่างพัฒนาไปแล้ว แต่เนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เป็นแรงขับให้ภาคธุรกิจ จะต้องทําความเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าทําให้เกิดค่าใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างผลกําไรในระดับต่างๆกัน ในภาคสถาบันการเงินการธนาคาร ธุรกิจประกัน การค้าส่ง ค้าปลีก และโทรคมนาคมก็เช่นเดียวกัน

 .
การเตรียมความพร้อมในการทํา CPM/ABM อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรจะทําอย่างไรบ้าง

คําตอบที่จะอธิบายถึงการเตรียมความพร้อมในการทํา CPM/ABM อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การยอมรับและความมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการนี้โดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร  จริงอยู่ CPM/ABM เป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างยิ่งสําหรับองค์กร แต่จะไม่สําเร็จได้เลยถ้าขาดแรงผลักดันอย่างจริงๆจังๆจากผู้บริหารระดับสูง  เพราะสิ่งที่เป็นเงื่อนไขสําคัญก็คือทําอย่างไรให้ผู้บริหารระดับกลางและพนักงานไม่รู้สึกว่าเป็นการนําวิธีการเหล่านี้มาใช้ในการบริหารพวกเขาเหล่านั้นในระดับแยกย่อย การทํา CPM/ABM จะสําเร็จได้นั้น ผู้บริหารระดับสูงต้องมีแนวคิดหรือมุมมองที่ว่าโครงการนี้ไม่ได้ทําขึ้นมาเพื่อควบคุมหรือสร้างอํานาจให้มากขึ้น

 .

แต่เป็นการทําให้ผู้บริหารระดับกลางและผู้ร่วมงาน สามารถที่จะบริหาร จัดการ และจัดลําดับขั้นตอนความสําคัญของแผนงานต่างๆได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรด้วยกัน ผู้บริหารระดับสูงจะต้องแสดงความจํานงค์ที่จะเป็นผู้นํา แต่ไม่ใช่ที่จะเป็นผู้ควบคุม ผู้บริหารระดับกลางจะช่วยลดความเสี่ยง ในขณะทีผู้บริหารระดับสูงจะช่วยบริหารคํานวณความเสี่ยงนั้น  CPMจะเป็นเครื่องมือสําคัญในการช่วยวิเคราะห์ รวมถึงการคํานวณการวิเคราะห์ความเสี่ยง ทั้งในแง่สถิติ เพื่อการตัดสินใจในธุรกิจได้ดีขึ้น

 .

การนําเทคโนโลยีมาใช้จึงไม่ใช่เพื่อที่จะมาบริหารผลงาน หากแต่การใช้ CPM จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลในองค์กรที่จะสร้างสัมพันธภาพและเป้าหมายรวมร่วมกัน การนําซอฟแวร์จึงมีส่วนช่วยถึงผลลัพธ์นี้

 .
ทําไมการทํา CPM และ ABC/M จึงสําคัญสําหรับองค์กรในประเทศกําลังพัฒนา

คําตอบก็คล้ายกับทฤษฎีในระบบเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าเม็ดเงินการลงทุนจะไหลเข้าไปยังที่ๆมีศักยภาพและโอกาสในการคืนทุนสูง เพราะนักลงทุนต่างก็ต้องการที่จะได้ผลกําไรสูงสุด นั่นก็หมายถึงความรับผิดชอบของผู้บริหารขององค์กร ที่จะต้องมีความสามารถในการบ่งชี้ถึงโอกาสของการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อที่จะทําให้องค์กรมีกําไรและเติบโตต่อไปได้  ดังนั้น การลําดับความสําคัญของโครงการต่างๆจึงเป็นสิ่งสําคัญที่จะต้องมีการบริหารให้ดี

 .

ซึ่งถ้าจะมองถึงมุมมองระดับประเทศแล้ว ปัจจุบัน ประเทศที่กําลังพัฒนาไม่สามารถที่ใช้ความได้เปรียบทางต้นทุนของค่าแรงงานตํ่าได้อีกต่อไปแล้ว  ต้นทุนแรงงานนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นตามค่าใช้จ่ายประจําวัน  ความได้เปรียบนี้อาจจะมีก็แต่ในประเทศจีนเท่านั้นที่ยังได้เปรียบอยู่

 .

แต่สิ่งสําคัญที่สุดก็คือ ความสนใจขององค์กรในประเทศกําลังพัฒนาที่จะปรับปรุงผลกําไรให้ดีขึ้น หรืออย่างกรณีภาครัฐ ก็ต้องการที่จะสร้างการบริการที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน หรือองค์กรเอง ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ผู้ใช้  ไม่เฉพาะแต่เจ้าของกิจการหรือนักลงทุน การได้ผลประกอบการที่ดี ก็หมายถึงเม็ดเงินในการลงทุนที่ดีขึ้นด้วย และขยายไปยังมุมมองระดับชาติ

 .
สิ่งที่เรียนรู้จากองค์กรในประเทศกําลังพัฒนา
 .
ความสําเร็จที่สัาคัญขององค์กรในประเทศกําลังพัฒนานั้นขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละที่ในการใช้ CPM

การวางแม่แบบแผนกลยุทธ์ (strategy mapping) และ Balanced Scorecards นั้น สิ่งสัาคัญก็คือการนําเอาScorecards มาใช้ในผู้บริหารระดับสูงก่อนที่จะส่งไปยังระดับล่างในองค์กร การใช้ Balanced Scorecard ในระยะแรกเริ่มนั้น ผู้บริหารระดับสูงควรจะใช้เพื่อเป้าหมายกลยุทธ์หลักเท่านั้น และวัดผลสิ่งเหล่านี้ (หรือที่เรียกว่า key performance indicator – KPI) เพื่อที่จะตรวจวัดระดับผลของแต่ละเป้าหมายหลัก  ผู้บริหารระดับสูงควรมุ่งเน้นถึงเกณฑ์วัดผลที่สามารถบ่งบอก ณ เวลานั้นๆ (leading indicators) รวมทั้งในแง่ของการวัดผลในสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะการเงิน มากกว่าการวัดผล ณ ยังจุดเวลาที่ผ่านมาแล้ว (lagging indicators)

 .

ส่วนการสร้างระบบ ABM นั้น สิ่งที่สําคัญก็คือจะต้องเกี่ยวข้องกับพนักงานระดับปฏิบัติการมากกว่าฝ่ายบัญชีอย่างเดียว เพราะนอกจากจะทําให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกของความเป็นเจ้าของระบบข้อมูล ABM ร่วมกันแล้ว ยังจะทําให้การติดตั้งระบบ ABM นั้น ไม่ได้ออกแบบให้รับข้อมูลที่เกินความจําเป็น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สําหรับ ABM นั้นการได้ประมาณค่าที่ถูกต้อง ดีกว่าได้ค่าที่แม่นยําแต่ไม่ถูกต้องเลย

 .
ประโยชน์ที่ได้รับ

ABM จะทําให้องค์กรมีความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงส่วนที่ทําให้ธุรกิจสูญเสียเม็ดเงินไป ทั้งทางด้านของผลิตภัณฑ์ และด้านลูกค้า  ด้วยองค์ความรู้นี้ จะทําให้องค์กรสามารถตอบสนองธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงการสร้างสรรสัดส่วนของผลิตภัณฑ์และการบริการที่ต้องการนําเสนอ การตั้งราคา และเลือกเป้าหมายกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้อง  ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ค้าส่งในสหรัฐอเมริกาต่างๆได้ยกเลิกลูกค้ากลุ่มน้อยที่ไม่สร้างผลกําไร หรือไม่คุ้มแก่การบริการ หรือในบางกรณี ก็มีการปรับราคาไม่ให้มีการ bundle ในการนําเสนอราคาขาย แต่จะเพิ่มราคาต่อการสั่งซื้อสําหรับลูกค้าที่มีพฤติกรรมการซื้อที่ไม่คุ้มต่อธุรกิจ

 .

ซึ่งทุกครั้งที่มีการปรับโครงสร้างราคาให้มีประสิทธิภาพนั้น ก็จะมีการเชื่อมโยงเอาข้อมูลจาก ABM มาปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆในองค์กรอีกด้วย อาทิ เช่น Six Sigma ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งหนึ่งในอเมริกา ได้พบว่ามีบางวิธีการที่ไม่สร้างผลประกอบการที่ดี และไม่ใช่สิ่งที่จําเป็นในการสร้างศักยภาพหรือเป้าหมายหลัก จึงเปลี่ยนมาใช้การ outsourcing เป็นทางเลือก

 .

ส่วนประโยชน์ของ CPM นั้นจะกว้างกว่าเพราะการทําแม่แบบแผนกลยุทธ์ (Strategy Map) นั้นสามารถที่จะบ่งบอกถึงเป้าหมาย และการบริหารโครงการ หรือสิ่งริเริ่มที่จําเป็นที่จะต้องมีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์โครงการที่มีอยู่ การยกเลิก หรือเลื่อน เพื่อให้ความสําคัญในลําดับขั้น ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่สําคัญก็คือ พนักงานทุกคนจะสามารถมุ่งเน้นไปที่การทํางานที่จําเป็นที่จะต้องทําเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดีกว่าทีจะเสียเวลาในการทํางานที่ไม่ตรงเป้าหมาย  ดังนั้น จะเป็นการปลูกฝังกลยุทธ์ไปในงานของพนักงานแต่ละคน

 .

สําหรับประโยชน์ในแง่ของเทคโนโลยีสารสนเทศก็ไม่ยิ่งหย่อนกัน องค์กรสามารถที่จะมีข้อมูลเพียงพอที่จะเห็นมุมมอง และมิติของข้อมูลให้เกิดประโยชน์ได้ดีกว่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เดิมทีเดียวจะไม่สามารถมองเห็นอย่างต่อเนือ่ง สอดคล้อง หรือสามารถเข้าไปดู วิเคราะห์ได้ ข้อมูลบางอย่างที่ไหลเวียนอยู่ในองค์กรนั้นมีคุณค่ามหาศาลถ้ามีการจัดเก็บ สร้างคุณภาพ และวิเคราะห์ที่ดีที่จะใช้ร่วมกันในองค์กร

 .

ความยากลําบากก็คือ หลายๆองค์กรมีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่สามารถเชื่อมโยงต่อกันได้ หรือไม่มีโซลูชั่นเป็นอันหนึ่งเดียวกัน บางองค์กรใช้ระบบไอทีหลายระบบบนแพลทฟอร์มหลายๆแบบ และหลากหลายเครื่องมือการใช้งาน บ้างก็ไม่มีมาตรฐาน บ้างก็หมดอายุของการซ่อมบํารุง หรือซื้อจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทําธุรกิจอีกต่อไปแล้ว การแก้ปัญหาโดยใช้โซลูชั่นบางอย่างก็มักเป็นปัญหาทางด้านของซอฟแวร์ที่จะต้องซื้อในสิ่งที่ไม่จําเป็น หรือทําให้ข้อมูลไม่ตรงกัน หรือต้องทํางานซํ้าซ้อนกันเข้าไปอีก สุดท้ายองค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านการปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

 .

ดังนั้น การแก้ปัญหาทางด้านของข้อมูลให้เชื่อมต่อกันจึงไม่ใช้เป็นสิ่งที่ง่ายนักในการทํา CPM แต่เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลสมัยใหม่นั้นจะเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่ง ซอฟแวร์ที่ได้มาตรฐานและความสามารถที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ เช่น แซส จึงเป็นโซลูชั่นที่ดีในแอพลิเคชั่นการวิเคราะหฺ์ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมด้วยการมีต้นแบบข้อมูล (data models) เฉพาะสําหรับธุรกิจ และความต้องการของแต่ละแผนก จะทําให้การบริหารริเริ่มการทํา CPM ขององค์กรได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 .
การทํา CPM/ABC มีความหมายต่อองค์อย่างไร ในแง่ของการเปลี่ยนแปลง

การทํา CPM/ABC ต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงว่าพนักงานไม่ใช่ส่วนที่ต้องบริหารด้วยการคานอํานาจและการวัดผล แต่พนักงานคือข้อมูลสําคัญที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรใหม่ๆ จริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเลยในประเทศที่กําลังพัฒนา เนืองจากแรงงานที่มีการศึกษาก็มีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูงจึงพึ่งพาผู้บริหาระดับกลาง และพนักงานในทีมต่างๆในการแก้ปัญหาและตัดสินใจมากขึ้น ซึ่ง CPM จะเป็นเสมือนเครือ่งมือในการชี้แนะนําทางโดยการใช้การวิเคราะห์เชิงลึกมาช่วย

 .
แนวโน้มของ CPM/CBM?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การบริหารและวัดผลการปฏิบัติงานองค์กร (CPM) นั้นคล้ายๆกับร่มคันใหญ่ที่รวบรวมเอาวิธีการบริหารงานเข้าไว้ด้วยกัน แนวโน้มที่ทุกองค์กรต้องการที่จะเพิ่มศักยภาพ และความเป็นเลิศจะมีมากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงความต้องการที่จะรวมเอาวิธีการปรับปรุงการทํางานต่างๆในองค์กรที่ยังไม่เชื่อมต่อกันเข้าไว้ด้วยกันในแพลทฟอร์มเดียว อาทิเช่น Six Sigma และการวัดคุณภาพของค่าใช้จ่ายมารวมกัน

 .

แนวโน้มของ ABM นั้น องค์กรต่างๆที่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนจากข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน จะเปลี่ยนมาเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์บริหารต้นทุนในเชิงอนาคตมากขึ้น รวมถึงการคาดการณ์ทรัพยากรเพื่อการใช้จ่ายและการวางแผน ซึ่งจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากการบริหารระบบบัญชีเดิมๆไปสู่การบริหารแบบเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเชิงลึกเพื่อผลกําไรที่ดีขึ้นสําหรับธุรกิจ

 .
บทบาทของเทคโนโลยีใน CPM/ABM

อย่างที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นใน CPM/ABM เทคโนโลยีไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบริหารและวัดผลการปฏิบัติงาน แต่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จําเป็นที่จะต้องมีในการทํา CPM/ABM ต่างหาก

 .

การใช้เทคโนโลยีสําหรับ CPM จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรในการที่จะมีศักยภาพในการใช้คลังข้อมูล (data warehouse) และการบริหารข้อมูลจํานวนมหาศาล คลังข้อมูลนั้นจะเป็นที่เก็บข้อมูลที่สําคัญในกิจกรรมต่างๆของธุรกิจ อาทิเช่น ข้อมูลของลูกค้า เทคโนโลยีเหมืองข้อมูล (data mining) จะทําการดึงข้อมูลมาเพื่อที่จะทำการเปลี่ยนรูปแบบเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้โดยเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์   Extraction Transform and Load (ETL) จึงเป็นคําที่ใช้กันโดยทั่วไป

 .

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรหลายๆแห่งได้ซื้อระบบซอฟแวร์หลายๆระบบมาใช้ แต่กระนั้นก็เสมือนเป็นการซื้อมาแล้วก็เก็บไว้บนหิ้ง เพราะปัญหาก็คือ ระบบเหล่านี้จะทํางานได้ดีเยี่ยมและใช้ศักยภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อมันเชื่อมโยงถึงกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทําได้ยากมากเพราะองค์กรได้ลงทุนซื้อระบบเหล่านี้ไปแล้ว การแก้ปัญหาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศก็คือความพยายามที่จะจัดเก็บข้อมูลจากหลายๆระบบเหล่านี้ให้เป็นระบบคลังข้อมูลเดียว เพื่อที่แอพลิเคชั่นหลายๆระบบสามารถใช้ข้อมูลเดียวกันร่วมกันได้

 .

หน้าที่ต่อไปของส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศคือการนำเหมืองข้อมูล (data mining) มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จากองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลจํานวนมหาศาลนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเหนือคู่แข่ง หรือในแง่ของภาครัฐหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกําไรก็คือการที่จะให้บริการแก่ประชาชนให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เครื่องมือที่ใช้ช่วยในการจัดการข้อมูลส่วนใหญ่นั้น ไม่สามารถที่จะรวมข้อมูลจากหลายๆแห่งได้ดี เช่นอาจจะไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ได้ หรือมีข้อจำกัดบางส่วน

 .

โดยทั่วไปแล้วจะไม่นิยมนำข้อมูลในระดับปฏิบัติการจากระบบปฏิบัติการทางธุรกิจ เช่น ในแอพลิเคชั่น Enterprise Resource Planning – ERP มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งต่างจากการนำเข้าเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นจะต้องใช้ในการวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งจะทําให้การเรียกดูข้อมูล มีความเร็วในการตอบสนองการคํานวณได้มากกว่า

 .

ด้วยเหตุนี้ องค์กรต่างๆ จึงมีความต้องการที่จะใช้ระบบการทำเหมืองข้อมูล (data mining) ที่มีความสามารถที่หลากหลายกว่า ซึ่งจะเป็นโซลูชั่นที่ครอบคลุม และยังสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามต้องการ จะทําให้พนักงานทุกๆส่วนได้ใช้ข้อมูลในมุมมองที่แสดงผลเหมือนๆกันมากกว่าที่จะมีหลายๆแบบ

 .

ถ้าจะมองถึงผู้ที่ให้บริการซอฟแวร์แล้ว เราควรจะมองถึงระบบเปิดที่สามารถรองรับโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นมาตรฐาน และมั่นใจว่าซอฟแวร์นั้นจะสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในหลายๆธุรกิจ  ผู้ให้บริการซอฟแวร์ อาทิเช่น แซส นำเสนอซอฟแวร์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเสมือนเป็นการทำงานบนแหล่งข้อมูลเหล่านั้น และให้แพลทฟอร์มที่เป็นอิสระ

 .

ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลจากแพลทฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลทฟอร์มได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ระบบ mainframe หรือ UNIX  ด้วยความสามารถขั้นสูงนี้จะทําให้สามารถดึงข้อมูลได้จากหลายๆโซลูชั่น และจากระบบหลายๆระบบเพื่อที่จะให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ และเป็นมุมมองแก่ผู้บริหารในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจ

 .

ผู้ให้บริการซอฟแวร์เช่น แซส จึงเป็นคําตอบที่ดีในการแก้ปัญหาข้อมูลองค์กร ทั้งในภาครัฐและเอกชน ต่อจากนี้ไป ความต้องการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศองค์กร จะเป็นมากกว่าความต้องการเครื่องมือที่ช่วยในธุรกิจและการวิเคราะห์เท่านั้น แต่จะเป็นความต้องการโซลูชั่นแบบเสร็จสรรพไปแล้ว ซึ่งในที่นี้ จะหมายถึงโซลูชั่นในแนวระนาบไปกับความต้องการของแต่ละฝ่ายธุรกิจ อาทิเช่น Human Capital Management และ Balanced Scorecards และความต้องการในเชิงธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง นั่นก็คือ โซลูชั่นในแนวดิ่ง อาทิ เช่น ธุรกิจค้าปลีก สถาบันการเงิน สาธารณสุข หรือ ผู้ผลิต เป็นต้น

 .

โดยสรุปแล้ว ในยุคของระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence – BI) เครื่องมือต่างๆได้เข้ามามีบทบาทสําคัญในหลากหลายองค์กร ซึ่งการต่อยอดด้วยวิธีการและโซลูชั่นที่ได้ประโยชน์สูงสุดย่อมทําความสําเร็จให้แก่การทํา Corporate Performance Management (CPM) ได้

.

บทความโดย มร.แกรี่  คูกินส์

ที่ปรึกษาบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ 

Website: http://www.sas.com