กฟผ.ย้ำค่าเอฟทีงวดเดือนต.ค.49-ก.พ.50 ไม่ขึ้นชัวร์ หลัง กฟผ.เร่งบีแอลซีพีเข้าระบบให้เร็วกว่าเดิม ซึ่งช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท พร้อมอนุมัติผลิต RPS 5%
กฟผ.ย้ำค่าเอฟทีงวดเดือนต.ค.49-ก.พ.50 ไม่ขึ้นชัวร์ หลัง กฟผ.เร่งบีแอลซีพีเข้าระบบให้เร็วกว่าเดิม ซึ่งช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท พร้อมอนุมัติผลิต RPS 5% ของโรงไฟฟ้าใหม่อีก 140 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.จะเป็นผู้ผลิตเอง 80% ที่เหลือ 60% จะรับซื้อจากเอกชน พร้อมหารือ ปตท.เพื่อหาทางกดเอฟทีปีหน้าไม่ให้ขึ้นมาก คาดมีสัปดาห์อาจมีข่าวดี |
. |
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารบอร์ด กฟผ.กล่าวว่า ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีสั่งกำชับไม่ให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)ในงวดเดือนตุลาคม 49- มกราคม 50 ปรับขึ้น โดยสั่งให้กระทรวงพลังงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)หาวิธีบริหารต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นด้วยการเร่งโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีทั้ง 2 ยูนิตให้เข้าระบบได้เร็วกว่าเดิมที่กำหนด โดยยูนิตที่ 1 จากเดิมที่จะสามารถเข้าระบบได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็เร่งมาเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ |
. |
ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิง(น้ำมันเตา)ในการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 400 ล้านบาท และยูนิต 2 จากเดิมที่จะสามารถเข้าระบบได้ในช่วงเดือน ก.พ.50 ก็เร่งให้เร็วขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้รวมกันทั้งหมด 2,500 ล้านบาท ซึ่งราคารับซื้อไฟที่ กฟผ.เจรจาได้จะอยู่ที่ระดับ 1.30 บาทต่อหน่วยจากเดิมอยู่ที่ระดับ 1.90 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ยังมีโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ กฟผ.ได้ปรับปรุงใหม่ให้สามารถจ่ายไฟได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าเชื้อเพลิงได้อีกประมาณ 665 ล้านบาท |
. |
ประกอบกับจะใช้น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนมาก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าค่าเอฟทีในงวดเดือนต.ค.49-ม.ค.50 ไม่มีการปรับขึ้นแน่นอน ส่วนค่าไฟฟ้าฐานจะสามารถปรับลดได้หรือไม่ เท่าไหร่นั้นอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า(เรกูเลเตอร์)ที่จะสามารถตอบได้ในปีหน้า เพราะขณะนี้ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ |
. |
ทั้งนี้ หาก กฟผ.ใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือว่าโชคดีที่สามารถใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงไปประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยลบในเรื่องของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะสูงขึ้นจากเดิมราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้างวดก่อนอยู่ที่ระดับ 194 บาทต่อล้านบีทียู ปรับขึ้นมาเป็น 214 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเมื่อราคาก๊าซฯปรับขึ้น 1 บาทต่อล้านบีทียูจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าขยับขึ้นประมาณ 0.6 สตางค์ต่อหน่วย |
. |
นายณอคุณ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5% ของโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โรง คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางประกง และโรงไฟฟ้าสงขลา กำลังการผลิตรวม 2,800 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 140 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.จะเป็นผู้ผลิตเอง 80% ด้วยการให้ใช้หลังคาอาคารสำนักงานของกฟผ.ทั่วประเทศเป็นที่ตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ และการทำพลังงานลมที่ลำตะคองอีก 1 เมกะวัตต์ และการทำสัญญาบันทึกข้อตกลง(MOU)กับกรมชลประทานในการใช้พลังงานน้ำท้ายเขื่อนอีก 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่าน เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวร เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่กลอง รวมกำลังการผลิต 78 เมกะวัตต์ |
. |
โดยใช้ลงทุน 7,405 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 60 เมกะวัตต์ กฟผ.จะรับซื้อจากเอกชน โดยแบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 10 เมกะวัตต์ พลังงานลม 10 เมกะวัตต์ พลังงานจากขยะ 20 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมวลอีก 20 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มอีก 140 เมกะวัตต์ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน จะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย ภายในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า แต่เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 26,000 เมกะวัตต์ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากจนแทบจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างไร |
. |
ส่วนวิธีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก็จะใช้วิธีการประมูลใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเลือกรับซื้อ โดยพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์)ราคารับซื้อเฉลี่อยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย พลังงานลมอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย พลังงานจากขยะอยู่ที่ 4.60 บาทต่อหน่วย และพลังงานจากชีวมวลอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย |
. |
อย่างไรก็ตาม ยังมีการลงนามซื้อขายพลังงานน้ำจากเขื่อนฮัดจี ประเทศพม่า และการดึงพลังงานในประเทศมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ในระยะยาวต้นทุนค่าไฟฟ้าจะถูกลง นอกจากนี้ในเวลา 14.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค.49 กฟผ.ก็จะมีการประชุมร่วมกับ ปตท.เพื่อที่จะหาวิธีกดค่าเอฟทีในปีหน้าไม่ให้ปรับขึ้นมาก คาดว่าในสัปดาห์อาจจะมีข่าวดีออกมา |