เนื้อหาวันที่ : 2008-02-14 12:47:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1668 views

กระทรวงอุตฯ โชว์ 151 โรงงานนำร่อง ดัน SMEs ไทยสู่ตลาดโลก

กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ความสำเร็จ SMEs นำร่อง 151 แห่งทั่วประเทศ คัดเลือก 17 สถานประกอบการดีเด่นในโครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพสามารถลดต้นทุนการจัดการและการผลิต ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เฉลี่ยร้อยละ 75 พร้อมดัน SMEs ไทยสู้การแข่งขันในตลาดโลก

กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ความสำเร็จ SMEs นำร่อง 151 แห่งทั่วประเทศ คัดเลือก 17 สถานประกอบการดีเด่นในโครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพสามารถลดต้นทุนการจัดการและการผลิต ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เฉลี่ยร้อยละ 75 พร้อมดัน SMEs ไทยสู้การแข่งขันในตลาดโลก

.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการจัดการและด้านการผลิตของโรงงาน SMEs แปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย มีโรงงานนำร่องเข้าร่วมโครงการฯ 151 แห่ง จากจังหวัดทั่วประเทศ

.

โดยหลังการดำเนินโครงการฯ ผู้ประกอบการเกินกว่าร้อยละ 60 สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานกว่า 3 - 5 แสนบาทต่อเดือน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เฉลี่ยร้อยละ 75 พร้อมลดต้นทุนการผลิต ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม พึ่งพาตนเอง สร้างงาน สร้างรายได้ ทดแทนการนำเข้าและส่งขายยังตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้สถานประกอบการหลายแห่งสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตจำนวนมาก เช่น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จำหน่ายในตลาด

.
อาทิ การผลิตข้าวฮางซึ่งเป็นข้าวที่นำไปนึ่งก่อนขัดสีเพียงครั้งเดียวทำให้เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ โดยคิดเป็นมูลค่าเพิ่มกว่า 100.8 ล้านบาทต่อปี บางรายได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การผลิตเพียงเล็กน้อยแต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวเปลือกได้ 720 ตันข้าวเปลือกต่อปี คิดเป็นมูลค่า 14.4 ล้านบาทต่อปี และบางรายสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานและมูลค่าของเสีย รวมทั้งสิ้น มูลค่ากว่า25 ล้านบาทต่อปี
.

"การดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ส่งผลให้การดำเนินโครงการฯ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และแปลงความสูญเปล่าเป็นผลกำไรได้อย่างเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจ และสามารถก้าวสู่เวทีการแข่งขัน ในตลาดโลกได้"นายวิฑูรย์ กล่าว

.

โดยสัดส่วนการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการจาก 3 ใน 5 แผนงาน พบว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นแผนงานที่ผู้ประกอบการหรือโรงงาน ต้องการเสริมศักยภาพมากที่สุดจำนวน 120 ราย แผนการลดต้นทุนทรัพยากรและพลังงาน จำนวน 100 ราย และแผนบริหารจัดการวัตถุดิบและโลจิสติกส์ จำนวน 97 ราย ตามลำดับ

.
นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลสถานประกอบการดีเด่นหรือ Best Practice รวม 17 แห่ง ที่สามารถพัฒนาและปรับใช้แผนงานในด้านต่างๆ ได้ดี ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ได้ดำเนินการพัฒนากิจการ และมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุนการใช้พลังงาน ทั้งนี้สถานประกอบการดีเด่นมีรายชื่อ ดังนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหมิตรแป้งมัน จ.ชลบุรี, นายทวี สิทธิสาครศิลป์ (ทวีไข่เค็ม) จ.นนทบุรี, บริษัท แอกโกร-ออน จำกัด จ.สุพรรณบุรี,
.

บริษัท จันทบุรีผลิตผลเครื่องดื่ม จำกัด จ.จันทบุรี, บริษัท เครื่องหอมไทย-จีน จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา, บริษัท อาภาผลอุตสาหกรรมอาหารไทย จำกัด จ.ราชบุรี, บริษัท จุลอินเตอร์ซิล จำกัด จ.เพชรบูรณ์, บริษัท ไทยเอเชียไรซ์โปรดักซ์ จำกัด จ.แพร่,โรงงานอำไพพรรณการเกษตร จ.เชียงใหม่, บริษัท สยามไชน์เปเปอร์ จ.อุตรดิตถ์,บริษัท เค.เอ็ม.ไอ ฟอเรสต์ จำกัด จ.บุรีรัมย์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีรุ่งชัยกิจ จำกัด จ.กาฬสินธุ์, สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด,

.

บริษัท เอเชี่ยนน้ำมันปาล์ม จำกัด จ.กระบี่, บริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด จ.ภูเก็ต, บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด จ.สงขลา และ บริษัท ตรังไม้ยางพารา จำกัด โดยสถานประกอบการดีเด่นทั้ง 17 รายนั้น สามารถนำคำแนะนำ ขั้นตอนการพัฒนามาประยุกต์ใช้และเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด พร้อมทั้งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปพัฒนาสถานประกอบการของตนได้ในอนาคต

.

สถานประกอบการนำร่อง 151 โรงงานนำร่องจะถูกนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาในเรื่ององค์ความรู้เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการแบบเดียวกันได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่งโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค หรือ โครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เป็นโครงการต่อเนื่องระยะ 3 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2551-2553 เพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทยที่เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน โดยปี 2551 มีเป้าหมายดำเนินการใน 250 โรงงาน และเพิ่มแผนงานด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน นายวิฑูรย์กล่าวเสริมท้าย