เนื้อหาวันที่ : 2008-02-07 11:03:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2255 views

กทม. ได้แบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสุขุมวิทแล้ว

รูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท มีความเหมาะสมทั้งด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เห็นชอบนำรูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากการชนะการประกวดมาประยุกต์ใช้ มีความเหมาะสมทั้งด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และราคาค่าก่อสร้าง พร้อมกำชับทุกสถานี จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

.

นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ใช้รูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 โดยประยุกต์จากแบบที่ชนะการประกวด ซึ่งผู้ออกแบบของผู้รับเหมาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจะนำรูปแบบหลังคาสถานีชั้นชานชาลา โดยยกหลังคาสถานี เป็น 2 ชั้น

.

โดยยกเป็น 1 ช่วงตลอดความยาว แทนการยกเป็นช่วงๆ 7 ช่วง พร้อมยื่นชายคาแทนการใช้บานเกร็ด ส่วนหลังคาบันไดทางขึ้น-ลงสถานี จะปรับปรุงโดยการใช้หลังคาเป็นชั้นๆ คล้ายรูปแบบเดิม แทนหลังคาชั้นเดียว ช่วยในการระบายอากาศและการมองเห็นที่ดีกว่า ด้านลวดลายพื้นบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว ใช้ลวดลายพื้นเฉพาะบริเวณกลางสถานีของชั้นจำหน่ายตั๋ว ไม่ให้ลวดลายมากเกินไปเพื่อผู้ใช้บริการจะได้ไม่สับสน ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งจะได้ประสานกับผู้รับจ้างดำเนินการต่อไป

.

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้กำชับคำนึงถึงแบบการก่อสร้างทุกสถานีของส่วนต่อขยายฯ จะต้องมีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

.

ในส่วนของการประกวดรูปลักษณ์สถานีฯ นั้น สืบเนื่องจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA REPORT) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ 4 ก.พ. 43 กำหนดให้มีการประกวดรูปลักษณ์สถานี โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการประกวดฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ศ.อรศิริ ปาณินท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.รุจิโรจน์ อนามบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

.

 นายพิสิฐ กาญจนรุจิวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรม บริษัท อรุณชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด ดร.จำลอง สุทิน บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด นายวิศิษฎ์ ภานุสิทธิกร สถาปนิก 7 วช. ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร นายวิบูลย์ นิตยโกศล หัวหน้าสถาปนิก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ใช้เกณฑ์พิจารณาจากรูปลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ด้านสิ่งแวดล้อม และราคาค่าก่อสร้าง

.

สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินการประกวดรูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้า โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ได้รับรางวัล 6 แสนบาท รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัลๆ ละ 3 แสนบาท ได้แก่ บริษัท ดีไซน์-ดีเวลล็อป จำกัด และบริษัท คอมโพซิชั่น เอ จำกัด ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ บริษัท ออลโซน จำกัด ได้รับรางวัล 70,000 บาท ซึ่งผลงานที่ชนะการประกวดจะเป็นแบบที่นำมาประยุกต์ใช้ต่อไป