เนื้อหาวันที่ : 2008-02-07 10:00:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1835 views

ไบโอเทค ลดต้นทุนโรงงานน้ำมันปาล์ม เตรียมรับปัญหาในอนาคต

ศูนย์พันธุวิศวกรรมศึกษาพบสายพันธ์แบคทีเรีย ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายน้ำเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มให้เป็นพลังงานชีวมวล พร้อมติดตั้งระบบทดสอบในโรงงานขนาดใหญ่ รอผลอีก 1 ปี ก่อนที่จะเผยแพร่ใช้งานทั่วประเทศ สร้างความหวังโรงงานน้ำมันปาล์มผลิตเชื้อเพลิงใช้แทนน้ำมันเตา ตามรอยโรงงานแป้งมันยันฟาร์มสุกร

ศูนย์พันธุวิศวกรรมศึกษาพบสายพันธ์แบคทีเรีย ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายน้ำเสียจากโรงงานน้ำมันปาล์มให้เป็นพลังงานชีวมวล พร้อมติดตั้งระบบทดสอบในโรงงานขนาดใหญ่ รอผลอีก 1 ปี ก่อนที่จะเผยแพร่ใช้งานทั่วประเทศ สร้างความหวังโรงงานน้ำมันปาล์มผลิตเชื้อเพลิงใช้แทนน้ำมันเตา ตามรอยโรงงานแป้งมันยันฟาร์มสุกร

.

.

.

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) กล่าวว่า ไบโอเทคประสบความสำเร็จในการค้นพบแบคทีเรียย่อยไขมันและผลิตก๊าซมีเทน จากน้ำเสียโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ทดแทนพลังงานจากน้ำมันเตา ขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่องทดสอบในโรงงานขนาดใหญ่คาดว่าจะทราบผลการวิจัยได้ภายใน 1 ปี

.

โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มมีศักยภาพสูงในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เนื่องจากมีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาโรงงานต้องอาศัยระบบบำบัดน้ำเสียจากต่างประเทศ ซึ่งราคาสูงถึง 100 ล้านบาท หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง จะทำให้ราคาค่าติดตั้งเทคโนโลยีถูกลง ศ.ดร.มรกต กล่าว

.

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยไบโอเทคได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) พัฒนาเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมอาหารและปศุสัตว์ เช่น ฟาร์มเลี้ยงหมู โดยพัฒนาสายพันธุ์แบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพสูง ในการย่อยแป้งและผลิตก๊าซมีเทน สู่กระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยีตรึงฟิล์ม ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

.

เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มได้เช่นกันโดยเปลี่ยนจากแบคทีเรียย่อยแป้ง มาเป็นแบคทีเรียย่อยไขมัน ผนวกกับแบคทีเรียที่ประสิทธิภาพในการผลิตมเทน จึงเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพให้กับโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มได้เช่นเดียวกับโรงงานแป้งมัน

.

ปัจจุบันโรงงานแป้งมันจำเป็นต้องใช้น้ำมันเตา ในกระบวนการผลิตประมาณ 8,000 ลิตรต่อวัน หากเปลี่ยนมาติดตั้งเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียจะประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ปีละ 20 ล้านบาท

.

กระทรวงพลังงานและไบโอเทคจึงสนับสนุนให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศติดตั้งเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทดแทนการใช้น้ำมันเตา ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมีค่าติดตั้งอยู่ที่ 40 ล้านบาท คืนทุนภายใน 2-3 ปี โดยภาครัฐพร้อมสนับสนุนเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ภาคเอกชนที่สนใจ

.

เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ และเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งนักวิจัยให้ความสำคัญและพัฒนาเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไม่แพ้ชาติอื่น ขณะที่การวิจัยด้านพลังงานอื่น ๆ ยังคงต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน โดยพยายามปรับปรุงพันธุ์รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ผู้อำนวยการไบโอเทคกล่าว

.

ขณะนี้ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมพันธุ์พืช เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชพลังงานในสภาพดินที่แตกต่างกันโดยจัดโซนนิ่งพื้นที่ในทุกภูมิภาค

.

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม 54 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 535,000 ตันต่อปี ส่งผลให้มีน้ำเสียจำนวนมาก ปล่อยออกจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งน้ำเสียจะมีสีน้ำตาล และมีค่าควบความสกปรกน้ำเสียสูงหากไม่ได้รับการบำบัดที่ถูกวิธี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงควรจะต้องมีการเตรียมการความพร้อมของเทคโนโลยีเพื่อรองรับปัญหาในอนาคต

.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ