กฟผ. จับมือ JGSEE พัฒนาเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จากเครื่องต้นแบบสู่เครื่องจริงที่มีกำลังผลิตถึง 160 กิโลวัตต์ คว้ารางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย วันนักประดิษฐ์ ปี 51 เชื่อองค์ความรู้ด้านเทคนิคการผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำโดยคนไทย ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ
. |
กฟผ. จับมือ JGSEE พัฒนาเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จากเครื่องต้นแบบสู่เครื่องจริงที่มีกำลังผลิตถึง 160 กิโลวัตต์ คว้ารางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย วันนักประดิษฐ์ ปี 51 เชื่อองค์ความรู้ด้านเทคนิคการผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำโดยคนไทย ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ พร้อมสามารถต่อยอดสู่การขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดโลกร้อน และลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ |
. |
นายประโมทย์ ฉมามหัทนา ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นในประเทศได้ จึงได้ร่วมมือกันทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของไทย และขยายพื้นที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปยังแหล่งน้ำที่มีศักยภาพทั่วประเทศ |
. |
โดยพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ ที่ผ่านมาทีมวิจัยสามารถสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบ และพัฒนาเครื่องให้สามารถใช้ได้จริง โดยมีการติดตั้งและทดสอบการใช้งานที่เขื่อนแม่จาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปางมาแล้วกว่า 1 ปี ซึ่งผลงาน เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเขื่อนจาง นี้ได้รับรางวัลชมเชย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา |
. |
"เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มีการพัฒนาและใช้งานในต่างประเทศมีหลายขนาด แต่สำหรับประเทศไทยแหล่งน้ำส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนและฝายที่ได้รับการพัฒนาเพื่อการชลประทานส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็ก ทีมวิจัยจึงมุ่งสร้างองค์ความรู้เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กก่อน ซึ่งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเขื่อนแม่จาง เป็นเครื่องที่ได้พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องต้นแบบ |
. |
. |
. |
โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครื่องอยู่ที่การออกแบบรูปร่างของกังหัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ความสูงหัวน้ำ(ความต่างระดับน้ำที่หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อน) แตกต่างกัน โดยเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเขื่อนแม่จางได้พัฒนารูปร่างของกังหันน้ำให้เหมาะกับความสูงหัวน้ำ 13 เมตร และมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 160 กิโลวัตต์ โดยสามารถเดินเครื่องได้ที่ความสูงหัวน้ำต่ำกว่าหรือสูงกว่า 13 เมตรได้ไม่เกิน 10%" นายประโมทย์ กล่าว |
. |
ทั้งนี้ องค์ความรู้จากการวิจัย อาทิ การออกแบบรูปร่างกังหันให้เหมาะกับความสูงหัวน้ำ การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้มากกว่าครึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมาก โดยมีราคาติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ต่อ 1 กิโลวัตต์ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ 60,000-70,000 บาท ต่อ 1 กิโลวัตต์ จึงทำให้การขยายพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นไปได้ง่ายขึ้น |
. |
ซึ่งการขยายพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กตามแหล่งน้ำต่างๆ สามารถทำได้โดยเริ่มจากเขื่อนชลประทานที่มีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้นจะช่วยชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ได้ อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำยังมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง จึงไม่ต้องห่วงเรื่องราคาเชื้อเพลิงและราคาค่าไฟฟ้า |
. |
นายประโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง เพราะทำให้ไฟฟ้ามีคุณภาพดี และมีแสงสว่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังสามารถรับโหลดไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงมากได้ เช่น หากมีความต้องการไฟฟ้าจำนวนมากในเวลากะทันหัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถผลิตไฟฟ้าให้ได้ทันทีภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที |
. |
ซึ่งโรงไฟฟ้าประเภทอื่นไม่สามารถทำได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดโลกร้อน ลดการนำเข้าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี |
. |
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)
|