เนื้อหาวันที่ : 2008-02-04 08:13:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1533 views

ปิยสวัสดิ์ ทิ้งทวนนโยบายพลังงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เกิด

แผนพัฒนานี้ ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2550 – 2564 และประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 จำนวน 4 โรง กำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 4,000 เมกะวัตต์

ก.พลังงาน เปิดสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) อย่างเป็นทางการ ยันเป็นการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ และสร้างความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (31 ม.ค.51) กระทรวงพลังงานได้เปิดสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือ สพน. อย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทย

.

และนับจากวันนี้ไปหน้าที่หลักของ สพน. คือการศึกษาวิจัยถึงการใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต การเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเวลา 6 ปีนับจากนี้

.

ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วนที่สุด ที่สพน. จะต้องเร่งดำเนินการคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัย การจัดเก็บกากนิวเคลียร์กับสาธารณะชน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ โดยปัจจุบัน ได้ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับเพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชน

.

"ในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี ก่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้างอีก 6 – 7 ปี และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดต่อๆ ไป โดยทางเลือกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นที่แน่ชัดแล้ว เป็นเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำสุด และไม่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกก็กำลังตื่นตัวที่จะหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์กันเพิ่มมากขึ้น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

.

อนึ่ง ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่ได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2007 โดยแผนพัฒนานี้ ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2550 – 2564) และมีเนื้อหาสาระสำคัญที่ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 จำนวน 4 โรง กำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 4,000 เมกะวัตต์

.

โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และได้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญ 5 คน เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์