นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 27,198 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ31 และจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 2 รองจากญี่ปุ่น และไทยส่งออกมูลค่า 12,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 |
. |
ทั้งนี้หากดูจากสถิติการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (ฟอร์มอี) ปรากฏว่ามีผู้มายื่นขอใช้สิทธิลดภาษีสินค้าเข้าจีนต่อกรมการค้าต่างประเทศเป็นมูลค่าถึง 1,482 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 25 เป็นสินค้าเกษตรมูลค่า 556 ล้านเหรียญฯ สินค้าอุตสาหกรรมมูลค่า 926 ล้านเหรียญฯ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องจักร โทรศัพท์ไร้สาย เครื่องประมวลผลแบบดิจิตัล เงินแท่ง เป็นต้น |
. |
ซึ่งสินค้าที่ไทยนำเข้าเหล่านี้จีนได้รับประโยชน์จาก FTA น้อยมาก เนื่องจากอัตราภาษี MFN เท่ากับอัตราภาษี FTA ซึ่งมีอัตราภาษีร้อยละ 0-1 แต่จะเป็นประโยชน์สำหรับไทยเพราะเป็นสินค้าประเภทนำเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก ผลจากการทำ FTA อาเซียน-จีนส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีนแต่ละปีขยายตัวประมาณร้อยละ 30 และคาดว่าในสิ้นปี 2550 การส่งออกของไทยไปจีนจะขยายตัวประมาณร้อยละ 35 มูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านเหรียญฯ |
. |
ที่ผ่านมาไทยได้รับประโยชน์ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมากที่สุด อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยมีการขยายตัวมากกว่าการนำเข้าจากจีน ทำให้แนวโน้มการขาดดุลจะลดลง และในปี 2551 จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาใช้สิทธิให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง เช่น น้ำมันก๊าด สีย้อม ยางสังเคราะห์ ถุงมือทำด้วยยาง หนังฟอก เครื่องตัดวงจรอัตโนมัติ เป็นต้น |
. |
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าตามที่มีข่าวเรื่องการขอแบบหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (ฟอร์มอี) เพื่อนำไปลดภาษีนำเข้าประเทศจีนในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2550 มีมูลค่า 215 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นร้อยละ 2.6 นั้น กรมการค้าต่างประเทศได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ อาเซียน-จีน (ขอแบบฟอร์มอี) ในช่วงดังกล่าวปรากฏว่ามีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 942 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นร้อยละ 52 ของมูลค่าส่งออกสินค้าในบัญชีที่ลดภาษี |
. |
โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549ร้อยละ 50 สินค้าที่มีการขอฟอร์มอีมากจะเป็นสินค้าในกลุ่ม Early Harvest (สินค้ากลุ่มแรกที่เร่งลดภาษี) ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน ลำไย ฝรั่ง มังคุด มะม่วง ไม้ตัดดอก ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษี FTA เป็น 0 และมีส่วนต่างจากภาษีปกติระหว่าง 10-30% ทำให้มีการใช้สิทธิเต็มมูลค่าส่งออก สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ขอใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกได้แก่ ยางผสม โพลิคาร์บอเนต ปิโตรเลียมบิทูเมน เคมีภัณฑ์ เดทซ์ทริน ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ได้รับการลดภาษีลงเหลือร้อยละ 5 และมีส่วนต่างของภาษีปกติกับภาษี FTA ประมาณ 3% |