เนื้อหาวันที่ : 2008-01-31 11:05:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1770 views

เมอร์เซเดสเบนซ์ตอกย้ำผู้นำตลาดรถหรูยอดจำหน่ายสูงสุด 7 ปีซ้อน

เมอร์ เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในตลาดรถหรูอย่างแท้จริง ด้วยการประกาศตัวเลขยอดจำหน่ายของปีที่ผ่านมาซึ่งแสดงว่ารถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดจำหน่ายสูงสุดในตลาดรถยนต์ระดับหรูติดต่อกันเป็นปีที่ 7

 .

บริษัท เมอร์ เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในตลาดรถหรูอย่างแท้จริง ด้วยการประกาศตัวเลขยอดจำหน่ายของปีที่ผ่านมาซึ่งแสดงว่ารถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดจำหน่ายสูงสุดในตลาดรถยนต์ระดับหรูติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยในส่วนยอดขายรถยนต์นั่งระดับหรูในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมานั้นทางเมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 55.9 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขายรวมทั้งสิ้น 4,024 คัน

.

เมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถทำยอดขายได้สูงกว่าปี พ.ศ. 2549 ถึง 15 เปอร์เซนต์ แม้ว่าภาพรวมของตลาดรถยนต์นั่งระดับหรูในประเทศไทยจะมียอดขายรวมลดลงจากปีก่อน มร.โวลฟ์กัง ฮุบเพ็นบาวเออร์ ประธานบริหาร บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา เราสามารถทำยอดขายได้อย่างโดดเด่น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากแม้ว่าสถานะการณ์ของตลาดรถหรูในปีที่แล้วจะซบเซาก็ตาม

.

"ด้วยตัวเลขยอดขายรวมของตลาดรถหรูที่ลดลง แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสามารถทำยอดขายได้อย่างประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคได้มอบความไว้วางใจในแบรนด์ของเรา" มร.ฮุบเพ็นบาวเออร์ กล่าว

.

"พวกเรามีความยินดีเป็นอย่างมากกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนยอดขายของแต่ละรุ่น และส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำของตลาดรถหรูเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และบริษัทมั่นใจว่าจะยังคงรักษาตำแหน่งนี้ไว้ได้ในปีถัดไป ด้วยการเปิดตัว the new C-Class ทั้ง 2 รุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อันได้แก่ C 200 KOMPRESSOR ELEGANCE และ the C 200 KOMPRESSOR AVANTGARDE ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เรารักษาความแข็งแกร่งไว้ได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2551 นี้"

.

ในปี พ.ศ. 2550 รถยนต์ในอนุกรม E-Class นั้นถือว่าทำยอดขายได้สูงสุดด้วยตัวเลข 1,772 คัน ตามด้วย C-Class ซึ่งทำได้ 957 คันสำหรับรุ่น S-Class ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นชูโรงนั้นสามารถทำยอดขายได้ถึง 548 คัน คิดเป็นร้อยละ 73 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งทางการตลาด และอีกรุ่นหนึ่งที่จัดว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากไม่แพ้กันก็คือ A-Class ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับตลาดรถหรูด้วยตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดที่เติบโตขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 168 เปอร์เซ็นต์ ที่ยอดจำหน่าย 630 คัน เพิ่มขึ้นจาก 235 คันเมื่อปี พ.ศ. 2549

.

เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทย มร.ฮุบเพ็นบาวเออร์ได้ให้ความเห็นว่า "ที่ผ่านมารถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์นั้นได้รับความสำเร็จในเรื่องของยอดขายทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย รถยนต์รุ่น S-Class ของเรานั้นเป็นผู้นำอย่างไร้คู่ต่อสู้ ส่วน E-Class ก็ยังคงแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

.

สำหรับ C-Class ก็เริ่มต้นได้อย่างสวยงามและประสบความสำเร็จมากนับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นคู่แข่งสำคัญของรถยนต์ในเซ็กเม้นท์เดียวกัน ส่วนสำคัญของการได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นมาจากความเชื่อถือในตัวแบรนด์ ผนวกกับความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้า และความหลากหลาย ซึ่งในปีนี้ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้มีการเตรียมยนตรกรรมรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะที่ยังคงเน้นที่เรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และสมรรถนะการขับขี่เป็นสำคัญ"

.

รายละเอียดยอดขายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในปีพ.ศ. 2550 แบ่งออกได้ดังนี้ A-Class มียอดขายรวม 630 คัน (คิดเป็นร้อยละ 63.9 % ของส่วนแบ่งตลาด) B-Class มียอดขายรวม 43 คัน (คิดเป็นร้อยละ 79.6 % ของส่วนแบ่งตลาด) C-Class มียอดขายรวม 957 คัน (คิดเป็นร้อยละ 45.3 % ของส่วนแบ่งตลาด) E-Class มียอดขายรวม 1,772 คัน (คิดเป็นร้อยละ 63.2 % ของส่วนแบ่งตลาด) S-Class มียอดขายรวม 548 คัน (คิดเป็นร้อยละ 73.1 % ของส่วนแบ่งตลาด) M/G/R-Class มียอดขายรวม 74 คัน (คิดเป็นร้อยละ 15 % ของส่วนแบ่งตลาด)