ผลงาน 15 เดือน กระทรวงพลังงานจัดการสารพัดปัญหาลุล่วง วางรากฐานการพัฒนาพลังงานระยะยาว หวังให้รัฐบาลใหม่สานต่อ มั่นใจนโยบายลดผลกระทบจากราคาน้ำมันอย่างยั่งยืน ระบุ "นิวเคลียร์" ยังเป็นทางเลือกสำคัญของพลังงานในอนาคตไทย
"ปิยสวัสดิ์" รับผลงาน 15 เดือน กระทรวงพลังงานจัดการสารพัดปัญหาลุล่วง วางรากฐานการพัฒนาพลังงานระยะยาว หวังให้รัฐบาลใหม่สานต่อ มั่นใจนโยบายลดผลกระทบจากราคาน้ำมันอย่างยั่งยืน มุ่งให้ประชาชนลดใช้น้ำมัน แทนการลดราคาน้ำมัน ระบุ “นิวเคลียร์” ยังเป็นทางเลือกสำคัญของพลังงานในอนาคตไทย |
. |
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 15 เดือน กระทรวงพลังงานสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านพลังงาน ได้อย่างลุล่วง โดยผลงานสำคัญ ๆ ได้แก่ การกำหนดราคาน้ำมันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมัน การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในระยะยาวที่ชัดเจน การเร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน และการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงาน |
. |
นอกจากนี้ ยังได้วางรากฐานสำหรับการพัฒนาพลังงานในระยะยาว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลใหม่ รวมทั้งรัฐบาลในชุดต่อๆ ไป ช่วยสานต่อ โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศ และลดผลกระทบจากราคาน้ำมันอย่างยั่งยืน ซึ่งควรมุ่งเน้นให้ประชาชนลดการใช้น้ำมัน มากกว่าจะคอยลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่อาจจะเกิดปัญหาในระยะยาวต่อไปได้ |
. |
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันอย่างยั่งยืนนั้น ได้แก่ เปลี่ยนระบบการขนส่งคนและสินค้าให้เป็นระบบราง หรือระบบน้ำมากขึ้น โดยสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ริเริ่มคือการกันเงินจากการจำหน่ายน้ำมัน เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนด้านระบบขนส่งมวลชน และโครงการด้าน logisticต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลใหม่ควรต้องเร่งสานต่อให้สำเร็จโดยเร็ว |
. |
การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ และไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน ซึ่งการเตรียมการในเรื่องของพลังงานนิวเคลียร์นั้น ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล |
. |
และหากในอนาคตเกิดเทคโนโลยีที่ดีกว่า ก็ยังสามารถยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ได้ แต่หากไม่ได้มีการเตรียมการในวันนี้ เมื่อถึงเวลา แล้วไม่มีเทคโนโลยีอื่น ก็ต้องหันมาใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งนอกจากจะมีราคาแพงมากแล้ว ยังปล่อยมลพิษมากกว่าโรงไฟฟ้าอื่น ๆ รวมทั้งสร้างปัญหาต่อภาวะโลกร้อนเพิ่มเติมอีก |