กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ขับขี่รถยนต์ ควรหลีกเลี่ยงการสตาร์ทเครื่องยนต์และนอนหลับในรถอย่างเด็ดขาด ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ลดกระจกลงมาข้างละ 2 -3 นิ้ว เพื่อช่วยให้อากาศภายในถ่ายเทได้สะดวก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แนะผู้ขับขี่รถยนต์ ควรหลีกเลี่ยงการสตาร์ทเครื่องยนต์และนอนหลับในรถอย่างเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากจำเป็นต้อง นอนหลับในรถ ให้ลดกระจกลงมาข้างละ 2 -3 นิ้ว เพื่อช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสารถ่ายเทได้สะดวก |
. |
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการนอนหลับในรถแล้วสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จากท่อไอเสียถูกพัดลมเครื่องปรับอากาศดูดเข้าไปในห้องผู้โดยสารทางช่องแอร์ ทำให้ผู้ที่อยู่ในห้องโดยสารสูดหายใจเอาก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไปโดยไม่รู้ตัว |
. |
ซึ่งก๊าซดังกล่าวจะทำลายระบบหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในที่สุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย จึงขอแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนี้ ไม่ควรสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วนอนหลับในรถอย่างเด็ดขาด หากมีอาการง่วงนอนในขณะขับรถควรแวะจอดพักในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อล้างหน้าดื่มกาแฟให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากความง่วงโดยเลือกสถานที่หรือสถานีบริการน้ำมันที่ได้มาตรฐานมีไฟส่องสว่างอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันอันตรายจากพวกมิจฉาชีพ |
. |
ในกรณีที่จำเป็นต้องนอนหลับในรถ ให้ลดกระจกข้างลงมาทุกด้านข้างละประมาณ 2-3 นิ้ว จะช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสารถ่ายเทได้สะดวกขึ้น และไม่ควรนอนหลับเป็นเวลานานเกินไป ควรหลับประมาณ 20 – 30 นาที พอให้หายอ่อนเพลียเท่านั้น อีกทั้งไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ในรถโดยลำพังนานเกินไป ยกเว้นกรณีเด็กนอนในรถแล้วมีความจำเป็นต้องไปทำธุระให้ใช้วิธีลดกระจกลงมาข้างละประมาณ 2-3 นิ้ว |
. |
สำหรับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ปลายท่อไอเสียใต้ท้องยื่นออกมาไม่พ้นกันชนหลัง กรณีนี้ควันและก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จะถูกดูดเข้าไปในห้องโดยสารได้เช่นกัน สังเกตได้จากรถมีกลิ่นเหม็นคล้ายควันรถและบริเวณช่องแอร์มีคราบสีดำติดอยู่ |
. |
หากผู้โดยสารประสบเหตุดังกล่าวให้แจ้งพนักงานขับรถหรือผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการแก้ไข ที่สำคัญควรล็อครถทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เด็กซุกซนปีนเข้าไปแอบนอนเล่นในรถ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการขาดอากาศหายใจ ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ |