เนื้อหาวันที่ : 2006-07-12 17:36:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1148 views

กฟน. ทุ่มงบ 1.7 พันล้านบาท เดินหน้าโครงการสายป้อนใต้ดิน

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อัดงบประมาณ 1,700 ล้านบาท เดินหน้า โครงการเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน บนพื้นที่ถนน 3 สาย พหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท เน้นปรับภูมิทัศน์เมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอันดับต้นของเอเชีย อีกทั้งรองรับปริมาณผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อัดงบประมาณ 1,700 ล้านบาท เดินหน้า โครงการเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน บนพื้นที่ถนน 3 สาย พหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท เน้นปรับภูมิทัศน์เมือง และรองรับปริมาณผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

.

นางดารณี เมฆกวี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานคร  เป็นเมืองหลวงสำคัญ     และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอันดับต้นของเอเชีย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องมีความมั่นคง เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

.

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  ได้ทำการเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน แล้วเสร็จหลายโครงการ  อาทิ  โครงการสีลม  โครงการบริเวณโดยรอบสวนจิตรลดา โครงการปทุมวัน ได้แก่ บริเวณย่านปทุมวัน ราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนวิทยุ และถนนพระรามที่ 1

.

ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวง  (กฟน.) ได้ดำเนินการต่อเนื่องอีก 3 โครงการ  คือ โครงการพหลโยธิน  ครอบคลุมพื้นที่ ถนนพหลโยธิน เริ่มจากอนุสาวรีย์ถึงสวนจตุจักร และถนนประดิพัทธิ์ จากสี่แยกสะพานควายถึงถนนพระรามที่ 6 ,โครงการพญาไท ครอบคลุมพื้นที่ ถนนพญาไท เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงสะพานหัวช้าง ถนนโยธี ถนนศรีอยุธยา เริ่มจากถนนพญาไท ถึงถนนราชปรารภ และถนนเพชรบุรี จากถนนพญาไทถึงถนนบรรทัดทอง  และโครงการสุขุมวิท ครอบคุลมพื้นที่ถนนสุขุมวิท  เริ่มจากซอยสุขุมวิท 1  ถึงสุขุมวิท 81 รวมถึงซอยแยกจากสุขุมวิทบางส่วน โดยทั้ง 3 โครงการนี้ ได้ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และมีกำหนดแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2552 ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าว

.

อย่างไรก็ตาม  โครงการเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน  เป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงมาก ดังนั้น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการก่อน  โดยเฉพาะในบริเวณสถานที่สำคัญย่านธุรกิจ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น สถานที่ราชการ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ