เนื้อหาวันที่ : 2008-01-21 09:49:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2012 views

อุตฯ อาหารไทยดิ้นฝ่าค่าเงินบาทแข็งน้ำมันแพงคาดปี 2551 ขยายตัว

3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ปี 2551 ภาพรวมส่งออกสินค้าอาหารไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่ง ราคาน้ำมันพุ่ง ชี้แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยลดทอนศักยภาพการแข่งขันสินค้าส่งออกของไทย

3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ปี 2551 ภาพรวมส่งออกสินค้าอาหารไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่ง เหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ราคาน้ำมันพุ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชี้แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยลดทอนศักยภาพการแข่งขันสินค้าส่งออกของไทย คาดส่งออกอาหารของไทยปีนี้ มีมูลค่า 664,524 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีมูลค่าส่งออกอาหารมูลค่า 619,990 ล้านบาท

.

ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยในปี 2550 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ไก่และผลิตภัณฑ์ ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ และเครื่องดื่ม ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 196,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 7.5 มั่นใจปี 2551 ตลาดโลกต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มธัญพืช เมล็ดพืชน้ำมัน จะดันยอดส่งออกขยายตัว สินค้าประมง กุ้ง ทูน่ากระป๋องแปรรูป รับอานิสงส์สิทธิพิเศษ GSP จากอียู และ JTEPA

.

17 มกราคม 2551ที่ผ่านมามีการแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง "สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต" มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นางวิไล เกียรติศรีชาติ กรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

.

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

.

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 11 เดือนของปี 2550 โดยภาพรวมหดตัวลงเมื่อเทียบกับปี2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2550 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวมตลอด 11 เดือนของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 อุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ แปรรูปสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ น้ำมันพืช รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม โดยการผลิตสัตว์น้ำ (ทูน่าแปรรูป) ผลไม้แปรรูป (สับปะรดกระป๋อง) ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช (ปาล์มน้ำมัน) ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลน

.

วัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอาหารที่มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมีเพียงอุตสาหกรรมน้ำตาลและการผลิตเบียร์สำหรับการนำเข้าสินค้าอาหารของไทยในปี 2550 มีมูลค่า 196,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 7.5 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ ธัญพืช แป้ง อาหารสัตว์ เนื่องจากการขาดแคลนผลผลิต ราคาตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

.

ส่วนการนำเข้าสินค้าจำเป็นในการบริโภค ได้แก่ ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม อาหารทะเลแปรรูป มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการนำเข้าลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวด้านการส่งออกในปี 2550 มีมูลค่า 619,990 ล้านบาท โดยการส่งออกไปยังตลาดใหม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ชดเชยการหดตัวของตลาดหลักส่งผลให้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับปี 2549

.
การส่งออกอาหารของไทยในปี 2550 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตอาหารโลกโดยรวมยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชอาหารบางส่วนถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
.

ส่วนประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศจึงระงับการส่งออกชั่วคราว นอกจากนี้คู่แข่งที่สำคัญคือจีนและเวียดนามกำลังประสบปัญหาเรื่องสุขอนามัยอาหาร ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาวะการแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลง

 .

แนวโน้มการส่งออกในปี 2551 คาดว่า การส่งออกอาหารของไทยจะมีมูลค่า 664,524 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 7.2 (ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทที่ 33.50 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยการส่งออกจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารในกลุ่มธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

 .

ในส่วนของการคาดการณ์การส่งออกรายสินค้าในปี 2551 นั้น กลุ่มสินค้าประมง ได้รับสิทธิทางภาษี(GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งปี 2551 จะเป็นปีสุดท้ายของรอบโครงการก่อนจะมีการพิจารณาทบทวนโครงการรอบใหม่ นอกจากนี้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นก็ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง คาดว่าจะมีมูลค่า 85,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 2550 ทูน่ากระป๋องแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่า 53,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับปี 2550

 .

 ในขณะที่กลุ่มผักและผลไม้ การส่งออกผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป ในปี 2551 คาดว่าจะมีมูลค่า 34,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนผักสดและผักแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่า 19,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สำหรับกลุ่มสินค้าอื่นๆ อาทิ ข้าว คาดว่าจะมีมูลค่า 119,106 ล้านบาท

 .

 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2550 มันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น คาดว่าจะมีมูลค่า 20,495 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แป้งมันสำปะหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 16,042 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.5 ไก่และสัตว์ปีก คาดว่าจะมีมูลค่า 46,464 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อย 12.5 เมื่อเทียบกับปี 2550