กระทรวงอุตฯ เตือนผู้ประกอบการรับมือมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ทำธุรกิจทั่วโลกสะอาด มีผลใช้แน่ปี 2551
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตือนผู้ประกอบการรับมือมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ทำธุรกิจทั่วโลกสะอาด มีผลใช้แน่ปี 2551 พร้อมประกาศจุดยืนไทยต้องการให้เป็นข้อแนะนำ มากกว่ามาตรฐานเพื่อการรับรอง |
. |
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานสากลตัวใหม่ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานหรือ ISO- International Organization for Standardization ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมโดย สมอ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1004 เข้าร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการจัดการ 5 ประเด็น ได้แก่ หลักจริยธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย รวมทั้งการใช้แรงงาน เชื่อกันว่าผลของมันจะเกิดแรงกระเพื่อม กว้างขวางพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศ |
. |
การกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ ISO ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีขอบข่ายกว้างขวางโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออกและนักลงทุน จึงควรประชาสัมพันธ์ต่อผู้เกี่ยวข้องภายในประเทศทราบ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแต่เนิ่น ๆ ก่อนใช้ในปี พ.ศ.2551 และเชื่อว่า ISO 26000 จะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กรธุรกิจ นอกจากทำให้ภาคเอกชนมีความโปร่งใสเป็นธรรมแล้ว ยังเป็นมาตรฐานสำหรับปฏิบัติที่ดีต่อองค์กร เช่น การทำรายงานผลประกอบการ การดูแลพนักงาน ระบบสวัสดิการต่างๆ การไม่ใช้แรงงานเด็ก รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นแต่ละประเภทของกระทรวงอุตสาหกรรม และทั้งหมดยังสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านแรงงานด้วย นายจักรมณฑ์ กล่าว |
. |
นายไพโรจน์ สัญญะเดชากุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวว่า จุดยืนของประเทศไทยเป็นไปตามประเทศส่วนใหญ่และประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการให้มาตรฐาน ISO 26000 เป็นเพียงข้อแนะนำอันเป็นหลักปฏิบัติ(Guiding Principles) ไม่ประสงค์ให้เป็นมาตรฐานระบบการจัดการที่ใช้ในการรับรอง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น ค่าตรวจประเมินในการขอรับรอง ดังนั้น ลักษณะการดำเนินการสำหรับมาตรฐาน ISO 26000 จะเป็นหลักปฏิบัติที่องค์กรต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์เพื่อนำไปปฏิบัติ รักษาไว้ และปรับปรุงวิธีการดำเนินการเหมือนหลักธรรมาภิบาลของธุรกิจแต่จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพราะผ่านการเห็นพ้องต้องกันจากประเทศสมาชิกของ ISO ที่มีอยู่มากกว่า 100 ประเทศ คาดว่ามาตรฐาน ISO 26000 จะประกาศใช้ปี พ.ศ.2551 |