เอทีซีไอ นำผลงานเทคโนโลยีดิจิทัลไทยเข้าร่วมแข่งขันในการประกวดระดับนานาชาติโดยประเทศไทยคว้ารางวัลขึ้นเป็นอันดับ 3 จาก ผู้เข้าแข่งขัน 16 กลุ่มประเทศ ในงาน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) ดำเนินจัดโครงการ Thailand ICT Awards อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน เพื่อเฟ้นหาผลงานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมไทยที่ดีเด่นในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ
นายสุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ประธานในพิธีมอบรางวัล TICTA2022 กล่าวว่า “ในการแข่งขัน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022 ประเทศไทยได้ส่งทีมที่มีศักยภาพเข้าร่วมจำนวน 14 ผลงาน ซึ่งเป็นทีมได้ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Thailand ICT Awards (TICTA) 2022 ทั้งสิ้น โดยผู้เข้าแข่งขันไทยได้รับรางวัลจาก APICTA ทั้งสิ้น 10 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ 6 รางวัลและ รองชนะเลิศ 4 รางวัล
ซึ่งทำให้ผลรางวัลรวมของประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 3 จาก 16 กลุ่มประเทศ ซึ่งผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไทยเป็นเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เอทีซีไอขอขอบคุณผู้เข้าแข่งขันทุกทีม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความตั้งใจในการผลักดัน ตลอดจนพัฒนาผลงานที่โดดเด่นเพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”
สำหรับผู้ได้รับรางวัลมีรายละเอียดดังนี้คือ
บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด ผลงาน CUBIKA Big Insights ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Business Services – ICT Solutions และ รางวัลรองชนะเลิศในหมวด Technology – Big Data
ดิจิตอล ไดอะล็อก ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Data Analytics, Data Quality, BI, Government & Enterprise Solution บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรระดับโลกในการบริหารจัดการข้อมูลให้กับองค์กรที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย
บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ผลงาน AI solution for Rice quality and paddy varieties Inspection ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Industrial - Agriculture and Sustainability , Environment รางวัลชนะเลิศ ในหมวด Technology: Artificial Intelligence และรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Cross Category - Start-Up
อีซีไรช์ ตั้งขึ้นโดยกลุ่มของนักวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ดำเนินการภายใต้ภาพลักษณ์การเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลทางด้านเกษตรกรรมโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย
HealthTag ผลงาน HealthTag ผู้ได้รับรับรางวัลชนะเลิศในหมวด Cross Category - Start-Up
HealthTag เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ยกระดับระบบการรักษาพยาบาลในไทย โดยมีแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบข้อมูลจากแบบรวมศูนย์ (ศูนย์กลางอยู่ที่สถานพยาบาลแต่ละแห่ง) มาเป็นแบบกระจายศูนย์ (ศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล) ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างแท้จริง
บริษัท เค.จี. แอนด์ แพทริค จำกัด และ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน Wang: Data Market ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Business Services – Professional Services and Marketing Solution
Wang (ว่าง) คือ Crowdsourcing platform ตลาดข้อมูลออนไลน์ที่นำเจ้าของข้อมูล และคนว่างมาพบกัน เมื่อเจ้าของข้อมูลที่มีข้อมูลจำนวนมากและต้องการคนช่วยจัดการกับข้อมูล หรือให้ข้อมูล เช่น ช่วยระบุประเภทข้อมูล ช่วยคัดเลือกคำชนิดต่าง ๆ ช่วยตัดภาพ หรืออื่นใด สามารถนำงานมาฝากไว้กับว่าง เพื่อให้ผู้ที่มีเวลาว่างมาสร้างรายได้ด้วยการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น เจ้าของข้อมูลอาจเป็นบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (Machine learning) นักวิจัยในวงการการศึกษา นักวิจัยทางการตลาด หรือใครก็ได้ที่ต้องการคนช่วยจัดการหรือให้ข้อมูล ส่วนคนว่างจะเป็นใคร
อยู่ที่ใดในโลกก็ได้ ที่พอมีเวลาช่วยตอบคำถาม และช่วยจัดการข้อมูลตามที่เจ้าของระบุ
บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ชื่อผลงาน SHIPPOP ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Consumer – Retail and Distribution & Marketplaces
SHIPPOP เป็นบริษัท Startup ที่ก่อตั้งด้วยทีมงานคนไทย สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ข้ามาเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ Ecommerce ลดเวลาตนทุน และมีเวลาในการไปขยายธุรกิจให้เติบโตตามการเติบโตอย่างมากของธุรกิจ โดยสามารถเข้าถึง โดยช่องทาง Online และร้านแฟรนไชน์ กว่า 1200 สาขาทั่วประเทศ
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ผลงาน GreenWaste : make microgarden happen พัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Junior Student
GreenWaste เปลี่ยนเศษอาหาร ให้เป็นวัสดุปลูกออแกนิค สำหรับคนที่ใส่ใจสุขภาพใน 20 ชั่วโมง
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ผลงาน O-RA พัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Senior Student
O-RA ออร่า เป็นแพลตฟอร์มแรกและแพลตฟอร์มเดียว ที่ช่วยผู้สูงอายุในการทำกายภาพบำบัดโรคข้อเสื่อมได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ยั่งยืนและมีความสุข โดยใช้ AI ที่ประยุกต์กับหลักทางคณิตศาสตร์ และเกมมิฟิเคชัน