เนื้อหาวันที่ : 2008-01-14 16:12:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1635 views

บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จับมือ ม.เกษตรฯ และบริษัทซีเกท จัดแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซีจากจุฬาฯ ครองแชมป์ประเภททีมรุ่นซีเนียร์ ลีค เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก

 

.

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จับมือ ม.เกษตรฯ และบริษัทซีเกท จัดแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ

.

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 (Robocup Thailand Championship 2008) จัดขึ้นเป็นปีที่หก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนการพัฒนาความรู้ ความ สามารถของนักศึกษา ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความชำนาญทางด้านกลไกอิเล็กทรอนิกส์และ สร้างกลไกหุ่นยนต์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ

.

ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซี (Plasma-Z) ชนะเลิศ

 

ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองแชมป์ประเภททีมรุ่นใหญ่หรือ ซีเนียร์ ลีค (Senior league) และทีมหุ่นยนต์ชิบิ ดราก้อน  (Chibi Dragon)  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองแชมป์ประเภททีมรุ่นเล็กหรือ จูเนียร์ ลีค (Junior league) ทีมชนะเลิศประเภททีมรุ่นใหญ่  ได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาทและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 หรือเวิลด์โรโบคัพ (World RoboCup 2008)  ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กลางปีนี้

.

ทีมหุ่นยนต์ประเภททีมรุ่นใหญ่ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 50,000 บาท ได้แก่ ทีมหุ่นยนต์สคูบ้า (SKUBA) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.ส่วนทีมหุ่นยนต์ประเภททีมรุ่นเล็กที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 30,000 บาท ได้แก่ทีม โค้ด-นู้บ (Code-Noob) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร        

.

.

การจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 เป็นการพัฒนานิสิตนักศึกษาไทยให้เกิดความชำนาญในการสร้างหุ่นยนต์"  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าว "ความร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย ระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และซีเกทนำมาซึ่งโอกาสสำหรับเยาวชนในการนำความรู้ในเชิงทฤษฏีหลายสาขาวิชา

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์และการทำงานอัตโนมัติ มาใช้ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์  ดังนั้น ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์เป็นผู้ชนะเนื่องจากพวกเขาประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริงจนสามารถใช้งานได้จริงแล้ว" 

.

ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อแข่งขันฟุตบอล  ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าในเกม               การแข่งขันนาน 20 นาทีจะเป็นผู้ชนะ  การแข่งขันประเภททีมรุ่นใหญ่และการแข่งขันประเภททีมรุ่นเล็กมีกฎและกติกา      การแข่งขันที่เหมือนกัน  ความแตกต่างของการแข่งขันทั้งสองรุ่นคือจำนวนหุ่นยนต์และขนาดของสนามแข่งขัน

.

"การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนี้  ถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการ และส่งเสริมให้พวกเขามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์"  อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์  ประเทศไทย 2551 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว

.

ส่วนซีเกทก็ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์และได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จัดการแข่งขันและส่งทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ที่ชนะเลิศการแข่งขันเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา  ซีเกทสนับสนุนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้เยาวชนได้พบกับความมหัศจรรย์ของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์"

.

.

นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี  (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว "การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามและยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันฯยังช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม การวางแผน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและ อื่น ๆ  การแข่งขันนี้ช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์และนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก"

.

"ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์อันหลากหลาย เช่น การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซีเกทยังคงมุ่งมั่นต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนิสิตนักศึกษาไทย เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้พัฒนาความรู้ในศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านกลไก อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงาน การวิจัยและการพัฒนาของประเทศในอนาคต"

.

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ในปีนี้จะมีความแตกต่างไปจากการแข่งขันทุกครั้ง เนื่องจากมีการแบ่งประเภทของการแข่งขันเป็นสองระดับคือ รุ่นใหญ่ หรือ ซีเนียร์ ลีค (Senior league) โดยทีมที่ชนะเลิศในรุ่นนี้จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 หรือเวิร์ลโรโบคัพ (World RoboCup 2008)ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และรุ่นเล็ก หรือ จูเนียร์ ลีค (Junior league)

.

ซึ่งเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนที่เพิ่งเริ่มต้นและเริ่มสนใจประดิษฐ์หุ่นยนต์ได้มีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านหุ่นยนต์ ตลอดจนการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับรุ่นใหญ่ อย่างไรก็ตามการแข่งขันของทั้งสองรุ่นจะแข่งขันโดยใช้กติกาเดียวกันของเวิร์ลโรโบคัพ ทั้งนี้แต่ละทีมจะต้องประกอบ ด้วยสมาชิกหลัก 3 คนและอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน 

.

.

การแข่งขันรอบคัดเลือกทั้งสองรุ่น เริ่มจัดขึ้นประมาณกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551 โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 600,000 บาท พร้อมการเข้าร่วมการแข่งขันเวิร์ลโรโบคัพของทีมชนะเลิศรุ่นใหญ่ด้วย

.

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2545 จากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน อาทิเช่น คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีนี้คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม รับเป็นเจ้าภาพ

.

บริษัทซีเกทให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันและรางวัลสำหรับทีมฟุตบอลหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่เริ่มต้น จวบจนปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2550 (Robocup Thailand Championship 2007) ได้ที่ www.trs.or.th และ http://kucity.kasetsart.org/robocup2008/