เนื้อหาวันที่ : 2021-12-30 19:08:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1432 views

บราเดอร์กับภารกิจขวดพลาสติกพลิกชีวิต “อีโค่บริกส์”

หากมีเด็กนักเรียนชั้นประถมบอกคุณว่า เราสามารถนำขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบใสไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ได้สารพัดชนิด คุณคงไม่แปลกใจเท่าใดนัก แต่หากเด็กๆ บอกว่าเราสามารถใช้ขยะจากขวดน้ำดื่มเหล่านั้นช่วยป้องกันโรคไข้มาลาเรีย นำมาทำเป็นเครื่องปรับอากาศ ทำเป็นฉนวนลดเสียงรบกวน หรือใช้บรรจุเศษขยะชนิดอื่นได้ถึงกว่าครึ่งกิโลกรัม คงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงผลพลอยได้ที่เกิดจากการนำขยะจากขวดพลาสติกใสเหล่านี้มาทำเป็น “พลาสอิฐ” ที่เปลี่ยนขยะธรรมดาให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างสุดอัศจรรย์ 

“พลาสอิฐ” หรือ “อีโค่บริกส์” (Ecobricks) คือการนำเอาเศษขยะชิ้นเล็กๆ ที่ไม่เน่าเปื่อยอย่างเช่น ซองพลาสติก ถุงขนม หลอด เปลือกลูกอม ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มาบรรจุลงในขวดพลาสติกจนแน่น ทากาวให้ขวดติดกันเป็นบล็อก แล้วจึงนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างแทนก้อนอิฐ

อีโค่บริกส์ ขยะที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ณ โรงเรียนแบมบู

แคทเธอรีน รูท ไรลีย์ ไบรอัน ครูชาวนิวซีแลนด์วัย 73 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบมบู (Bamboo School) สถานที่ที่เป็นทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และเป็น “บ้าน” สำหรับเด็กขาดโอกาสในชุมชนบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เล่าว่า เธอได้แรงบันดาลใจในการนำขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกมาแปรรูปเป็นอีโค่บริกส์จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประโยชน์ของอีโค่บริกส์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและลดปริมาณขยะในชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคไข้มาลาเรียได้อีกด้วย

“เมื่อดิฉันมาที่ชุมชนบ้องตี้ราว 20 ปีก่อน มีไข้มาลาเรียชุกชุมมาก มีผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งรายทุกเดือน สาเหตุหลักพบว่าเกิดจากการที่บ้านของชาวบ้านไม่มีหน้าต่างและไม่มีมุ้งเลยโดนยุงกัด ซึ่งยุงแพร่พันธุ์ด้วยการวางไข่ในขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้ในชุมชน ดิฉันจึงคิดหาวิธีกำจัดขยะจากขวดพลาสติก จนกระทั่งได้พบข้อมูลว่าในอินโดนีเซียมีการนำขวดพลาสติกมาดัดแปลงเป็นวัสดุก่อสร้างด้วยการอัดเศษขยะลงไป จึงได้ริเริ่มให้เด็ก ๆ ช่วยกันเก็บขวดพลาสติกและเศษขยะมาทำเป็นอีโค่บริกส์ ซึ่งสามารถเก็บได้เยอะมาก จนตอนนี้นอกจากในพื้นที่แทบจะไม่มีขยะเหลือให้เก็บแล้ว ปัญหาเรื่องโรคไข้มาลาเรียก็หมดไปด้วย เราไม่มีผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่มา 4 ปีแล้วค่ะ”

แม้การผลิตอีโค่บริกส์จะมีกรรมวิธีไม่ซับซ้อน แต่แคทเธอรีนต้องลองผิดลองถูกอยู่ช่วงระยะหนึ่งกว่าจะได้อีโค่บริกส์ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับงานโครงสร้าง “การทำอีโค่บริกส์เราต้องเลือกขวดที่มีลักษณะเหมือนกันและขนาดเท่ากันพอดี ใส่ขยะลงไปให้แน่น เน้นขยะพลาสติกเพราะแข็งแรงกว่ากระดาษ เราจัดกิจกรรมให้เด็กแข่งขันกันว่าใครจะผลิตอีโค่บริกส์ได้หนักที่สุด ซึ่งน่าทึ่งมากที่หนึ่งขวดสามารถบรรจุเศษขยะได้หนักถึง 0.5-0.6 กิโลกรัมเลยทีเดียว ช่วงแรกเรายังไม่มีประสบการณ์จึงใช้กาวร้อนทาเพื่อให้ขวดติดกันเป็นบล็อก ซึ่งกาวร้อนมีราคาสูงและละลายได้ในสภาพอากาศร้อน เมื่อเกิดปัญหาเลยทดลองใช้กาวชนิดอื่นจนมาพบว่ากาวยางทารองเท้าสามารถใช้ติดขวดได้ดี ไม่ละลาย อีกทั้งยังมีราคาประหยัด เมื่อได้แล้วก็นำบล็อกอีโค่บริกส์มาใช้แทนอิฐและฉาบซีเมนต์ ซึ่งน่าทึ่งอีกเหมือนกันที่ขวดเหล่านี้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ด้วย ขณะที่อุณหภูมิภายนอกสูงถึงกว่า 35 องศาเซลเซียส แต่ภายในอาคารที่สร้างจากอีโค่บริกส์มีอุณหภูมิประมาณ 23 องศาเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าอีโค่บริกส์ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ช่วยป้องกันยุงวางไข่ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้มาลาเรีย เป็นฉนวนกันความร้อน และยังช่วยลดเสียงดังรบกวนระหว่างห้องขณะทำการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี เรามีแผนจะขยายการก่อสร้างต่อไป โดยทำห้องสมุด อาคารอเนกประสงค์ กำแพงโรงอาหาร และบริเวณลานกิจกรรม รวมทั้งนำมาใช้สร้างเป็นต้นไม้อีโค่บริกส์ให้เด็ก ๆ ได้ใช้แสดงผลงานทางศิลปะด้วยค่ะ”

และจากความมุ่งมั่นของโครงการที่ต้องการพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนควบคู่ไปกับการรักษ์โลก บราเดอร์ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปีนี้ เพื่อสร้างให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอยู่คู่กันได้อย่างสมดุล

ด้วยคุณประโยชน์อันทรงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในขยะจากขวดน้ำดื่ม ทำให้บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้อีโค่บริกส์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเดินหน้าสู่การเป็น “สำนักงานสีเขียว” (Green Office) อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกของคนในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมในสำนักงานเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งลดปริมาณขยะด้วยกลยุทธ์ 3Rs อันประกอบด้วย การลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งในปีพ.ศ.2564 นี้ บราเดอร์สามารถคว้ารางวัล Gold Award มาครองได้สำเร็จหลังจากที่ได้รับรางวัล Silver Award มาแล้วในปี พ.ศ.2563

“ปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการเป็นสำนักงานสีเขียวด้วยกลยุทธ์ 3Rs แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเรายังสามารถเติมเต็มได้อีกคือ การทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน คณะกรรมการเพื่อสำนักงานสีเขียวของบราเดอร์ได้ทราบข่าวการนำขยะจากขวดพลาสติกมาผลิตเป็นอีโค่บริกส์ จึงเกิดความสนใจและจัดกิจกรรมแปรรูปขวดพลาสติกเป็นอีโค่บริกส์ขึ้น เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนแบมบูที่มีคุณแคทเธอรีนเป็นผู้ก่อตั้งและดำเนินการ จากนั้น เราคิดต่อไปอีกว่า ทำไมเราไม่ลงพื้นที่เพื่อมีส่วนร่วมกับชุมชนเลยล่ะ จึงจัดกิจกรรมสร้างศูนย์การเรียนรู้จากอีโค่บริกส์ ณ โรงเรียนแบมบูขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารและพนักงานอย่างท่วมท้น กิจกรรมนี้ตอบโจทย์เป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ ที่ไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค แต่ยังมุ่งเน้นที่การดูแลชุมชนอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำมาโดยตลอด เช่น การใช้กระดาษครบ 2 หน้าและนำไปบริจาคเพื่อผลิตเป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ เรายังมีบริษัท TVS ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าด้านการขนส่งมาร่วมกิจกรรมกับเราด้วย โดยจะนำเอาขวดอีโค่บริกส์จำนวน 1,096 ขวดไปสร้างเป็นกำแพงศูนย์การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ และนอกจากนี้ บราเดอร์ ยังได้บริจาควัสดุก่อสร้างอื่นๆ ตลอดจนเงินบริจาค 20,000 บาทให้แก่โรงเรียนแบมบูเพื่อใช้ในการดำเนินงานอีกด้วย รวมทั้งจักรเย็บผ้าบราเดอร์เพื่อใช้ในการศึกษาและฝึกฝนวิชาชีพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนแบมบู” นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้

กิจกรรมการผลิตและการสร้างศูนย์การเรียนรู้จากอีโค่บริกส์ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะยังคงดำเนินการสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2050 ของบราเดอร์กรุ๊ป

สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับอีโค่บริกส์ งานพัฒนาชุมชน หรือบริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็ก ณ โรงเรียนแบมบู จ.กาญจนบุรี สามารถติดต่อได้ที่ www.facebook.com/catherine.rileybryan 

#brotherPRnews