ตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการซึ่งล้วนแต่ก่อเกิดประโยชน์อันใหญ่หลวงแต่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งในครั้งนี้และให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าใจและซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจตามแนวทางพระราชดำริยิ่งขึ้น
. |
ตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการซึ่งล้วนแต่ก่อเกิดประโยชน์อันใหญ่หลวงแต่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งในครั้งนี้และให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าใจและซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจตามแนวทางพระราชดำริยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยโดยสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชน จึงร่วมมือกันจัดงาน “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ด้วยการเรียงร้อยเรื่องราว พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริ ตลอดเวลา 60 ปี อย่างละเอียด ผ่านนิทรรศการอันทันสมัย ที่ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยเทคโนโลยี สื่อผสมมัลติมีเดียอันหลากหลาย ณ อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 11 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา |
. |
เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และร่วมเฉลิมฉลองวาระแห่งแผ่นดินในครั้งนี้ ทีมงาน นิตยสาร Extreme จึงได้เก็บภาพนิทรรศการบางส่วนมาฝากคุณผู้อ่านเพื่อร่วมทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ |
. |
. |
บริเวณงาน |
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้จัดบนพื้นที่มากกว่า 140,000 ตารางเมตร ในพื้นที่ 3 ส่วนของ อิมแพค เมืองทองธานี ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการพระราชประวัติ ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 การจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจ ที่ฮอลล์ 1-8 และ การจัดแสดงมหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ ที่ อารีน่า โดยทั้ง 3 ส่วน มีรายละเอียด ดังนี้ |
. |
|
. |
นิทรรศการพระราชประวัติ ณ อาคารชาเลนเจอร์ |
นิทรรศการพระราชประวัติจัดบนพื้นที่ประมาณ 60,000 ตารางเมตรของอาคารชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นอาคารใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้ได้ไม่นานนัก โดยทางผู้จัดทำได้แบ่งออกเป็น 9 โซน เพื่อให้ผู้ร่วมเข้าชมได้ร่วมซาบซึ้งพระราชประวัติอย่างละเอียด โดยแบ่งออกเป็น |
. |
โซนที่ 1 สืบราชสันตติวงศ์ จัดแสดงให้เห็นถึงการสืบราชสันตติวงศ์แห่งพระราชวงศ์จักรี ตลอดจน พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยการนำเสนอภาพถ่ายพระบรมรูปเขียนสีน้ำมันของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 8 รัชกาล พร้อมบทกลอนย่อพระเกียรติ และแผนผังการสืบราชสันตติวงศ์ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ของแต่ละพระองค์ที่ยังคุณประโยชน์ต่อผืนแผ่นดินไทย ผ่านทางจอภาพพลาสมา |
. |
. |
โซนที่ 2 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ จัดแสดงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจวบจนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยการนำเสนอพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในลักษณะของPanorama Exhibition พร้อมทั้งแบบจำลองวิลล่าวัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่ประทับที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ |
.. |
.. |
โซนที่ 3 พระคู่พระบารมี นำเสนอเรื่องราวเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพบกันและต่อมาได้เข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ตามลำดับเหตุการณ์ |
.. |
.. |
โซนที่ 4 พระปฐมบรมราชโองการ จัดฉายวิดีทัศน์ แสดงเหตุการณ์ตามโบราณราชประเพณี ในพระบรมราชาภิเษก ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และจัดภาพพิมพ์เหตุการณ์ดังกล่าวทั้งสองฝั่งของห้องแสดง |
.. |
. |
โซนที่ 5 อัครศาสนูปถัมภก จัดแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะต้องแสดงพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงเอื้อเฟื้อดูแลศาสนาต่างๆ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงทรงเป็นศูนย์รวมใจของปวงชนชาวไทยในทุกศาสนา |
. |
. |
โซนที่ 6 เสด็จเยี่ยมราษฎร นำเสนอการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยแม้ในถิ่นทุรกันดารหรือบริเวณชายแดน |
. |
. |
โซนที่ 7 คนของแผ่นดิน กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศหลายท่าน โดยจัดทำเป็น Testimonial ของผู้ที่ได้รับทุนอานันทมหิดล โดยฉายภาพขึ้นบนจอขนาดใหญ่ พร้อมรายละเอียดของทุนที่ผู้เข้าชมสามารถอ่านได้จากบอร์ดที่จัดแสดง หรืออ่านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ Touch Screen |
. |
|
โซนที่ 8 พระอัจฉริยภาพ แสดงออกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านต่างๆ คือ ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา และงานช่าง ตลอดจนหนังสือพระราชนิพนธ์ |
. |
. |
โซนที่ 9 เทิดไว้เหนือเกล้าชาวไทย แสดงให้เห็นถึงความซาบซึ้งและจงรักภักดีขอพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยภาพ 20 ภาพแห่งความทรงจำที่ประชาชนได้เข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน พร้อมกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาเยี่ยมชมงาน สามารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีได้ในรูปแบบของห้องถวายพระพรชัยมงคล โดยจัดทำเป็น TV Studio พร้อมห้องถ่ายทำจำนวน 5 ห้อง โดยแพร่ภาพผ่านทางสถานีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมทั้งการจัดทำปะติมากรรมต้นโพธิ์ขนาด 4 เมตร เพื่อให้ประชาชนแสดงความจงรักภักดีด้วยข้อความถวายพระพรลงบนกระดาษรูปใบโพธิ์ก่อนนำไปแขวนไว้บนต้น |
. |
.. |
นิทรรศการพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของราษฎรและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ฮอลล์ 1-8 |
. |
นิทรรศการพระราชกรณียกิจจัดบนพื้นที่ประมาณ 47,000 ตารางเมตร ของอิมแพค ฮอลล์ 1-8 โดยเปิดทะลุถึงกันเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ โดยแบ่งการนำเสนอพระราชกรณียกิจออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ดังนี้ |
. |
1. 60 ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ อาทิ ภาพป่าเสื่อมโทรม แผ่นดินแตกระแหง หุบห้วย ที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้น ของโครงการอันเนื่องมาจาพราะราชดำริ โดยมีการเปรียบเทียบภาพเหล่านี้กับภาพถ่ายในปัจจุบันภายหลังได้รับการพัฒนา ทั้งไร่นาที่เขียวขจี อ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ที่มีน้ำเต็มอ่าง ซึ่งให้ประโยชน์โดยตรงกับประชาชนหลายล้านครัวเรือน |
.. |
2. การพัฒนาทรัพยากรป่า จัดแสดงป่าจำลองเต็มพื้นที่ 1 ฮอลล์ สำหรับผู้ชมงานได้สัมผัสพร้อมรับทราบสาระความสำคัญของป่าและความเสียหายในลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตามแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูและบริหารทรัพยากรป่าไม้ |
.. |
3. ปรัชญาในการบริหารน้ำ ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญของนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดแสดงศิลปะ และปรัชญาการบริหารทรัพยากรน้ำ ภายใต้แนวคิด “จากภูผา สู่มหานที” ผ่านการแสดงการเดินทางของน้ำอย่างสมจริงและเป็นนิทรรศการที่ต่อเนื่องกับนิทรรศการการพัฒนาทรัพยากรป่า |
. |
4. ปัญหาเรื่องดิน และการแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน เป็นการจัดแสดงต่อเนื่องจากปัญหาของน้ำไปสู่ปัญหาของดินซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยนำเสนอปัญหาเชิงลึกที่เกิดขึ้นกับดิน และแนวทางพระราชดำริเพื่อแก้ไขและปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามพื้นที่ของภูมิภาคที่แตกต่างกัน |
. |
5. เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดแสดงชุมชนจำลองขนาดเล็ก ที่ประกอบด้วยบ้านหลังเล็กๆ โรงเรียน สถานีอนามัย และไร่นาสวนผสม ที่สื่อถึง “ชีวิตพอเพียง” อย่างแท้จริง ตามกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิร และจัดแสดงพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ตามแนวทางพระราชดำริที่ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นหลักบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดเหล่านี้ผ่านละครเวที และปะติมากรรมล้อเลียนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยของคนปัจจุบัน เพื่อเตือนสติผู้เข้าชมงาน |
. |
การแสดงนาฏกรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ในรูปแบบละครเพลง ณ อิมแพ็ค อารีนา |
. |
นำเสนอ มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระมหาชนก ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากชาดก นำเสนอในรูปแบบศิลปะการแสดงร่วมสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวของพระมหาชนกในรูปแบบ Musical โดยการที่ให้ผู้แสดงขับร้อง บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยให้สอดคล้องกับบทพูด ด้วยการออกแบบฉาก เทคนิค แสง สี เสียงแบบผสานที่ทันสมัย เพื่อสื่อถึงสาระสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสอนประชาชนด้วยพระเมตตาในเรื่องของการตั้งมั่นในความเพียร และการขจัดอวิชชา โดยใช้พื้นที่บริเวณชั้นหนึ่งทั้งหมดเป็นส่วนของเวทีการแสดงที่ประกอบไปด้วยนักแสดงกว่า 400 ชีวิต |
. |
. |
สุดยอดเทคโนโลยี |
การนำเสนอนิทรรศการครั้งนี้ ได้รวบรวมเทคโนโลยีที่ทันสมัยไว้มากมาย บางเทคโนโลยีนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ขณะที่บางเทคโนโลยีแม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่แต่ก็นำเสนอด้วยความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองที่แปลกใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีมากมาย แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัดจึงขอนำเสนอเฉพาะเทคโนโลยีที่ประทับใจทีมงานผู้เข้าชม |
. |
Graphic Water Fall |
เทคโนโลยีนี้จัดแสดงบริเวณด้านหน้าทางเข้างานในอาคารชาเลนเจอร์ ด้วยการนำเสนอภาพและข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยสายน้ำที่เรียงตัวไหลตกลงมาเป็นภาพและข้อความต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องอาศัยโปรเจกเตอร์ฉายภาพ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก โดยสายน้ำที่ปรากฏต่อหน้าผู้เข้าชมงานนั้นอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ในการสั่งหัวจ่ายน้ำให้ปรากฎออกมาเป็นภาพและข้อความ |
. |
Multivision 3 D |
เทคโนโลยีนี้ปรากฏอยู่ในหลายๆ ส่วนของงานและสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าชมไม่น้อยกว่าเทคโนโลยีแรก การนำเสนอเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะนำเสนอในลักษณะที่มีภาพบริบทแวดล้อม หรือวัตถุต่างๆ เป็นพื้นหลัง และนำเสนอภาพวัตถุที่ต้องการเน้น ด้วยเทคนิคของแสงที่ฉายภาพวัตถุออกมาเป็นภาพ 3 มิติ เสมือนลอยตัวอยู่บนอากาศ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะพบอยู่ในส่วนของนิทรรศการพระราชประวัติ โซนที่ 2 ที่จัดแสดงรถไฟจำลองทรงเล่นเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โซนที่ 8 จัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ด้วยเครื่องดนตรีทรงเล่นในลักษณะ 3 มิติ ประกอบเสียงเพลงบรรเลง และในส่วนของวิทยากรบรรยายการทำฝนเทียมในโครงการฝนหลวง ที่ใช้เทคนิคนี้ช่วยในการสร้างวิทยากรขึ้นมาเป็นภาพ 3 มิติ |
. |
Image Reflection |
เทคโนโลยีนี้ปรากฏอยู่ในโซนที่ 6 เสด็จเยี่ยมราษฎร ด้วยการสร้างสถานที่จัดแสดงในลักษณะของอุโมงค์ แล้วนำเทคนิค Image Reflection ฉายภาพวิดีทัศน์ถ่ายทอดเรื่องราวการเสด็จทรงเยี่ยมราษฎร ขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ซ้าย-ขวาของอุโมงค์ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังเดินทางเข้าไปในอุโมงค์แห่งพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว |
. |
Sound Dome |
เทคโนโลยีนี้ปรากฏอยู่ในโซนที่ 8 พระอัจฉริยภาพ ในส่วนของการจัดแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ นอกจากจะมีเนื้อร้องของเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 48 เพลง ให้ผู้เข้าชมได้อ่านแล้ว ภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ฟังเสียงเพลงจากเทคนิค Sound Dome โดยพื้นที่ทางด้านหน้าของบอร์ดแสดงบทเพลงแต่ละเพลง จะมีโดมอยู่ติดตั้งอยู่เหนือศีรษะผู้เข้าชม เมื่อผู้เข้าชมเดินเข้าไปภายในบริเวณโมก็จะได้ฟังเสียงเพลงบรรเลงตรงกับเนื้อหาเพลงที่อยู่ตรงหน้า โดยเสียงเพลงนี้จะได้ยินเฉพาะผู้ที่เข้ามาอยู่ใต้โดมเท่านั้น ผู้ชมคนอื่นๆ จะไม่ได้ยิน โดมดังกล่าวนี้ทำมาจากวัสดุใสครึ่งวงกลม ที่สามารถมองเห็นอุปกรณ์ส่งและขยายสัญญาณเสียงภายในโดมได้ |
. |
Interactive Shadow |
เทคโนโลยีนี้ปรากฏอยู่ในโซนที่ 7 คนของแผ่นดิน ในส่วนของจุดแสดงจารึกคนของแผ่นดิน โดยนำเสนอในรูปแบบเสมือนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูล รูปภาพของผู้ที่ได้รับทุนอานันทมหิดล โดยนำเทคโนโลยี Interactive Shadow มาใช้ในการเปิดหน้าหนังสือ โดยผู้เข้าชมสามารถนำมือไปวางไว้เหนือบริเวณด้านขวาล่างของหนังสือ เสมือนจะเปิดหนังสือไปหน้าถัดไป เงาของมือที่พาดผ่านหนังสือจะทำให้หนังสือพลิกเปิดหน้าใหม่ทันทีเพื่ออ่านข้อมูลผู้ได้รับทุนคนต่อๆ ไป |
. |
Globe Screen |
เทคโนโลยีนี้ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ครั้งแรกในเมืองไทย อยู่ในส่วนของแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ โดยการนำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องผ่านจอทรงกลมแบบลูกโลกที่สามารถชมภาพได้ 360 องศา |
. |
Hydro Screen |
เทคโนโลยีนี้อยู่ในส่วนของปรัชญาในการบริหารน้ำ โดย การนำ Hydro Screen หรือม่านน้ำจอภาพขนาดใหญ่ 20 x 7 เมตรขึ้นมา เพื่อสร้างเป็นกำแพงภาพม่านน้ำขนาดใหญ่ เพื่อฉายภาพโครงการต่างๆ ในพระราชดำริ บนกำแพงม่านน้ำดังกล่าว ที่ขนาบสองข้างทางเดินเข้าสู่ส่วนจัดแสดงพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ |
. |
การฉายโปรเจกเตอร์บนพื้นวัสดุเหมือนภาพ |
เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ในการนำเสนอโดยพบเห็นได้ในหลายๆ ส่วนของนิทรรศการ อาทิ การฉายเรื่องราวพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาเรือใบ โดยฉายภาพลงบนผืนผ้าใบของเรือใบมด กีฬาทรงโปรด การใช้แนวคิดนี้ในการนำเสนอยังเห็นได้ชัดเจนในส่วนของโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น เมื่อกล่าวถึงดินก็ฉายภาพดินลงบนพื้นผิวดินจำลอง กล่าวถึงเรื่องป่าไม้ก็ฉายภาพป่าไม้บนตอไม้ขนาดใหญ่ |
. |
. |
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ทีมงานได้เก็บมาให้คุณผู้อ่านให้ได้ร่วมชื่นชมพระบารมี และแม้งานนิทรรศการในครั้งนี้จะหมดลงไป แต่พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่เคยหมดไปจากใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน |