เนื้อหาวันที่ : 2008-01-04 14:12:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1883 views

พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถความหวังของผู้ประสบเหตุ

5 ปี ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพบยอดความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของคนไทยพุ่งสูงเจ้าของรถจ่ายเบี้ยประกันทำเงินกองทุนฯ โตกว่าหมื่นล้านบาทแต่คืนมาเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถไม่ถึงครึ่ง

5 ปี ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพบยอดความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของคนไทยพุ่งสูงเจ้าของรถจ่ายเบี้ยประกันทำเงินกองทุนฯ โตกว่าหมื่นล้านบาทแต่คืนมาเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถไม่ถึงครึ่งและส่วนใหญ่จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ เช่น ค่านายหน้าค่าใช้จ่ายในการจัดการสินไหมทดแทนและกำไร

.

อีกทั้งยังมีปัญหาบริการจัดการยุ่งยากซับซ้อนและล่าช้าผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 63  ยังจ่ายเงินเอง มีเพียงร้อยละ 18 ที่ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.นี้ที่เหลือผลักภาระค่าใช้จ่ายให้บัตรประกันสุขภาพอื่น ๆ เช่น บัตรทอง ฯลฯ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข เสนอยกเลิกของเก่าดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการการคุ้มครองให้ระบบมีเอกภาพ โดยให้ภาครัฐดำเนินการ โดยให้กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บเบี้ยประกันภัย ให้กรมบัญชีกลางดูแลการจัดจ่ายชดเชยความเสียหายอย่างมีมาตรฐานประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ผู้ประสบภัยไม่ต้องจ่ายเงินเองอีกต่อไป

.

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) จัดงานแถลงข่าวเรื่องทางสว่างของผู้ประสบเหตุจราจรโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อคิดเห็นและทางออกในการแก้ปัญหา อาทิ นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงค์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้แทนจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและตัวแทนครอบครัวผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าไม่ถึงสิทธิอันพึงได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ

.

นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลวันหยุดที่มีประชาชนมีการเดินทางจำนวนมาก และทุกปีจะมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมามากมายโดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย (วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ถึง 3 มกราคม 2550) ที่ผ่านมาเช่น สถิติข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่ามียอดการเกิดอุบัติเหตุรวม 4,456 ครั้ง บาดเจ็บ 4,943 และเสียชีวิต 449 คน 

.

โดยจังหวัดศรีษะเกษมีผู้เสียชีวิตสูงสุด รองลงมาคือ นครราชสีมาและหนองคาย ซึ่งสูงกว่ารายงานอุบัติเหตุเมื่อปี 2548ในช่วง 7 วันอันตรายซึ่งมีอุบัติเหตุ 4,164 ครั้ง บาดเจ็บ 4,772 คน และเสียชีวิต 441 คน  แสดงถึงความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สรุปยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 หรือเรียกว่าช่วง 7 วันอันตราย (28 ธ.ค.50- 3 ม.ค.51) พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 369 คน บาดเจ็บ 4,514 คน เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 4,121 ครั้ง

.

โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพฯ จำนวน 20 ราย ขอนแก่น จำนวน 18 ราย นครปฐม จำนวน 16 ราย และระยอง 11 ราย ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 4 จังหวัด คือ  แม่ฮ่องสอน สตูล ปัตตานี และนราธิวาส สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เกิดจากเมาสุรา คิดเป็นร้อยละ 42.30 สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เชียงราย (144 ครั้ง)  นครปฐม (128 ครั้ง) และสุรินทร์ (126 ครั้ง) ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ เชียงราย จำนวน 156 ราย

.

นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี

.

ด้าน นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่าจากรายงานผลกระทบของผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุของโรงพยาบาลสระบุรี ปี 2548 – 2550 พบว่าในส่วนของโรงพยาบาลสระบุรีได้รับผลกระทบที่เกิดจากบริษัทประกันภัย เช่น มีขั้นตอนการดำเนินงานซับซ้อน หรือกรณีผู้ป่วยที่ไม่ใช่เจ้าของรถมีความยุ่งยากที่ต้องใช้เอกสาร บริษัทประกันภัยบางแห่งมีการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ IT ทำให้เกิดข้อจำกัดกับผู้ป่วย บางบริษัทขอเอกสารเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ผลคดี เอกสารส่วนตัวของเจ้าของรถ หรือการทำประกันภัยซ้ำซ้อนกันหลายบริษัททำให้เกิดปัญหาการขอรับค่าเสียหายหรือค่าชดเชยตามเงื่อนไข

.

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงค์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

.

ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงค์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความจริงแล้วในความสูญเสียดังกล่าวผู้ประสบภัยจากรถควรได้รับความคุ้มครองตาม พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535ซึ่งเจ้าของรถทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายนี้ โดยบริษัทประกันวินาศภัยเป็นผู้รวบรวมจัดเก็บเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้ได้รับการ รักษาพยาบาลทันท่วงที ผู้ประสบภัยจากรถไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน และได้รับการชดเชยความเสียหายจากการทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ซึ่งในช่วงปี 2542-2549 พบว่ามียอดเงินเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นจาก6,555 ล้านบาทเป็น 10,727 ล้านบาท

.

แต่เมื่อดูข้อมูลสถิติจากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุขระหว่างปี พ.ศ. 2542-2548พบว่า มีผู้ประสบภัยจากรถไม่ถึง 1 ใน 5 ที่ได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. ฉบับนี้ โดยผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) ยังคงต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ส่วนที่เหลือเลือกที่จะใช้สิทธิอื่นๆ เช่น บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น นั่นหมายถึงการผลักภาระคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในส่วนค่ารักษาพยาบาลไปให้กองทุนตามสิทธิอื่น ๆ นั่นเอง

.

นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนของการใช้ พรบ. ผู้ประสบภัยจากรถฯ ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่สัดส่วนรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงและอัตราตายของผู้ป่วยรายได้น้อยมีค่าสูงที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเงินเบี้ยประกันที่เจ้าของรถถูกบังคับให้จ่ายมีจำนวนไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กล่าวคือ แม้ระบบนี้เป็นภาคบังคับซึ่งรัฐควรดำเนินการเองแต่กลับให้บริษัทประกันวินาศภัยเป็นผู้ดำเนินการขายประกันและจ่ายสินไหมชดเชย ทำให้ต้องมีการจ่ายค่านายหน้าขายประกัน และค่าดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนของแต่ละบริษัท

.

รวมไปถึงต้องมีผลกำไรทางธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าระบบประกันภัยภาคบังคับตาม พรบ. ฉบับนี้ มีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนแรก (การเก็บเบี้ยประกันภัย) ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย (การจ่ายเบี้ยประกันภัย) ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข โดยสำนักกรรมาธิการ 3 จึงยกร่าง พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ.... ฉบับใหม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา โดยให้ยกเลิกฉบับปัจจุบัน (พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ.2535)

.

 โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ คือ 1)ให้กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บเบี้ยประกันภัยพร้อมการต่อทะเบียนรถหรือจดทะเบียนใหม่โดยมีค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 1 ของเบี้ยประกันภัย 2)ให้กรมบัญชีกลาง จัดการกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับเพื่อจ่ายค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยและจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่สถานพยาบาล โดยมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่เกินร้อยละ 5 ของเบี้ยประกันภัย และ 3)กำหนดให้กองทุนฯนำเงินส่วนเกินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ทำประกันภัยหรือลดเบี้ยประกันภัยหรือนำเงินส่งเข้าภาครัฐเป็นรายได้แผ่นดิน

.

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

.

ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัญหาภายใต้ระบบการประกันภัยรถภาคบังคับปัจจุบัน คือ การกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเป็นผู้ดำเนินการรักประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งทำให้เกิดปัญหา 2 ด้านคือ ค่าใช้จ่ายดำเนินการสูงกว่าที่จำเป็นและผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนจากระบบที่เป็นอยู่ ผลดีของร่าง พรบ. ฉบับใหม่นี้คือ ทำให้ระบ บมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 6 ของเบี้ย ประกันภัย  ผู้ประสบภัยทุกรายไม่ต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล

.

และมีการวางแนวทางการตรวจสอบเอกสารและจ่ายเงินให้เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ สถานพยาบาลและผู้ประสบภัยสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าเสียหายได้สะดวกมากขึ้น ลดปัญหาที่เกิดจากการรอผลพิสูจน์ความผิดทางกฎหมาย เช่น ได้รับค่าเสียหายล่าช้าผู้ประสบภัยมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเท่ากันทุกคน สามารถปรับเพิ่มค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยจะได้รับ และลดภาระกองทุนประกันสุขภาพระบบอื่น ๆ ที่พึ่งภาษีและค่าประกันตนได้

.

ทั้งนี้อาจมองอีกแง่หนึ่งว่ารถคือปัจจัยเสี่ยงของประเทศ คือเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับสังคม ดังนันเจ้าของรถจึงควรจ่ายเงินเพื่อเป็นการประกันภัยเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือมีคนได้รับบาดเจ็บก็สามารถดึงเงินจากกองกลางนี้ได้ แต่วิธีที่กำลังปฏิบัติในขณะนี้กลับเป็นวิธีที่ขาดประสิทธิภาพอย่างมาก เสมือนกับการคันที่หูขวาแต่กลับใช้มือซ้ายมาเกา ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคือการใช้มือขวาเกาที่หูข้างขวา เปรียบได้กับระบบในปัจจุบัน ขณะเดียวกันรัฐบาลบังคับให้รถทุกคันต้องซื้อประกัน ซึ่งไม่ต่างกับการเสียภาษีชนิดหนึ่ง ความจริงคือประชาชนไม่มีทางเลือกเพราะกำลังถูกบังคับให้ซื้อประกันจากบริษัทเอกชน ขณะนี้ในประเทศไทยมีบริษัทประกันภัยเอกชนทั้งสิ้นถึง 65 บริษัท

.

อย่างไรก็ตามแนวคิดใหม่นี้เป็นทางเลือกหนึ่งของการให้ความคุ้มครองการประกันภัยรถภาคบังคับที่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่ใช้กันอยู่และจะส่งผลที่ดีต่อการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่การจะทำตามแนวคิดใหม่นี้ได้ จำเป็นต้องยกเลิก พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและใช้ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ.....นี้แทน