นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตุรกีเป็นอีกประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย สินค้าที่ตุรกีให้สิทธิพิเศษส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปกว่า 2,500 รายการ ยกเว้นสินค้าเกษตรจะไม่ให้สิทธิพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ |
. |
สำหรับปี 2550 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยกับตุรกีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 906.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าส่งออก 812.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่านำเข้า 93.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 719.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 473.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.77 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถบรรทุกชนิดแวน/ปิกอัพ ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และ ด้าย เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันก๊าด ของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า อะลูมิเนียม หินอ่อน และ เครื่องมือกล เป็นต้น |
. |
ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี GSP (ม.ค.-ต.ค. 50) กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) ไปตุรกี จำนวน 3,832 ฉบับ มีมูลค่า 372.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.87 ของมูลค่าการส่งออกรวม รายการสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูงได้แก่ ผ้าทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้าย เส้นใยประดิษฐ์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น |
. |
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิ GSP ของผู้ส่งออกไทยสำหรับการส่งออกไปตุรกีมีมูลค่าไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีนำเข้าปกติ (MFN rate) กับอัตราภาษี GSP ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงไม่เป็นที่จูงใจให้ผู้ส่งออกมาขอใช้สิทธิ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาษีที่ได้รับลดหย่อนจากการได้สิทธิ GSP จะต่างกัน 2-3% แต่ก็สามารถเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ทั้งนี้ การขอหนังสือรับรองฯ (Form A) ผู้ส่งออกสามารถกระทำได้สะดวก โดยสามารถยื่นขอทาง Internet หรือ มายื่นขอโดยตรงจากหน่วยงานของกรมการค้าต่างประเทศได้ |