นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความเห็นพ้องของสมาชิกกว่า 150 ประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อพิจารณา กฎ ระเบียบและ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงกฎแหล่งกำเนิดที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ปฏิบัติในหลายรูปแบบแตกต่างกัน จนเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก ให้มีความผสมผสาน กลมกลืน เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นกฎที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้กระแสการค้าของโลกมีความคล่องตัวและเสรีมากขึ้น |
. |
ทั้งนี้ ในคราวที่มีการก่อตั้ง WTO ได้มีการรับรองความตกลงว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Agreement on Rules of Origin) โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้า และคณะกรรมการทางเทคนิคว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อพิจารณาประเด็นทางด้านเทคนิคและดำเนินการประชุมจัดทำกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งจากการประชุม WTO ที่ได้เริ่มประชุมจัดทำกันมาตั้งแต่ปี 2538 นั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดทำได้แล้วเสร็จ เพราะยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การผลิตสินค้าให้ได้แหล่งกำเนิด และโครงสร้างของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า |
. |
ล่าสุด องค์การการค้าโลก (WTO)ได้จัดให้มีการประชุมพิจารณากฎแหล่งกำเนิดสินค้า ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2550 โดยมีประเทศสมาชิก WTO รวมทั้งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม โดยในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้หารือเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆ และกำหนดแผนการประชุมในปี 2551 เพื่อพิจารณาหารือเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเกษตร สินค้าเครื่องจักร และสินค้าอื่นๆ (พิกัดตอนที่ 1 ถึง 24 และ 28 ถึง 97) และการจัดทำโครงสร้างของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า |
. |
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ WTO จัดทำแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิก WTO จะนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าส่งออกทั่วไป หรือใบ C/O (Certificate of Origin) การจัดเก็บสถิติการค้า และการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด เป็นต้น ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข่าวสารและความคืบหน้าของการประชุมจัดทำกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ WTO ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต (www.dft.moc.go.th) และการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ |