เนื้อหาวันที่ : 2008-01-03 09:20:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2928 views

โฟล์ก ทุ่ม 2.7 หมื่นล้าน อีโคคาร์ ย้ายฐานผลิตเยอรมนีมาไทย

รถประหยัดพลังงาน อีโคคาร์ มาแรงไม่หยุด "โฟล์กสวาเกน" เมืองเบียร์หอบเงินลงทุน 27,000 ล้านบาท พร้อมตั้งโรงงานในประเทศไทย รอบอร์ดใหญ่ BOI ให้การส่งเสริม พร้อม 3 ค่าย รถใหญ่ "โตโยต้า-มิตซู-ทาทา" ไม่ยอมตกขบวน

รถประหยัดพลังงาน อีโคคาร์ มาแรงไม่หยุด "โฟล์กสวาเกน" เมืองเบียร์หอบเงินลงทุน 27,000 ล้านบาท พร้อมตั้งโรงงานในประเทศไทย รอบอร์ดใหญ่ BOI ให้การส่งเสริม พร้อม 3 ค่าย รถใหญ่ "โตโยต้า-มิตซู-ทาทา" ไม่ยอมตกขบวน วิ่งล็อบบี้เข้าที่ประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก่อนตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนมกราคม

.

 .

.

โฟล์กสวาเกน เตรียมที่จะย้ายฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กมายังประเทศไทย ด้วยวงเงินลงทุน 27,000 ล้านบาทที่จะผลิตรถยนต์ Eco-Car สอดคล้องกับแผนการลงทุนของบริษัทแม่อีก 9.5 พันล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปีที่จะใช้ในการพัฒนารถโฟล์กรุ่นใหม่ 20 โมเดล 4 แพลตฟอร์ม

 .

นโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ Eco-Car ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 13 เดือนของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถือเป็นความสำเร็จของคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่พยายามจะให้ประเทศไทย เกิดการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่เหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จในการเป็นฐานการผลิต รถปิกอัพมาแล้ว

 .

ความสำเร็จดังกล่าว จะเห็นได้จากเมื่อ BOI เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนปรากฏว่า ได้รับการตอบรับอย่างดีจากค่ายรถยนต์ ทั้งที่เปิดสายการผลิตภายในประเทศอยู่แล้วกับค่ายรถยนต์ใหม่ที่พร้อมจะตั้งโรงงานผลิตรถในไทย โดยภายในปี 2550 BOI ได้ "อนุมัติ" คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ Eco-Car ถึง 3 คำขอได้แก่

 .

1)บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จัดเป็นค่ายรถยนต์แรกที่ตัดสินใจผลิตรถยนต์ Eco-Car ด้วยเงินลงทุน 7,588 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 210,000 คัน ใช้ชิ้นส่วน 2,160,000 ชิ้น ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งออก 50% ขายในประเทศ 50 % 2)บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เงินลงทุน 9,500 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 138,000 คัน ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น

 .

ซีบอร์ด จังหวัดระยอง เขต 3 จะผลิตรถยนต์ Eco-Car จำนวน 2 รุ่น เครื่องยนต์เบนซินขนาด 996 ซีซี กับ 1242 ซีซี จำหน่ายในประเทศร้อยละ 19 และส่งออกร้อยละ 81 ตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ แอฟริกา, ออสเตรเลีย, เอเชียและ 3)บริษัทสยามนิสสัน ออโตโมบิล เงินลงทุน 5,550 ล้านบาท กำลังผลิตปีละ 120,000 คัน ตั้งโรงงานอยู่ที่ จังหวัดสมุทรปราการ เขต 1 จะผลิตรถยนต์ Eco-Car จำนวน 2 รุ่น เครื่องยนต์เบนซินขนาดต่ำ 1300 ซีซี จำหน่ายในประเทศร้อยละ 25 และส่งออกร้อยละ 75 ตลาดส่งออกหลักจะอยู่ที่ ออสเตรเลีย, เอเชีย/โอเชียเนีย

 .

แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงกำลังดำเนินความพยายามที่จะเรียกประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco-Car) รอการพิจารณาอยู่ถึง 4 โครงการ โดย 1 ใน 4 โครงการนี้ จะมีการลงทุนในวงเงินสูงที่สุดเท่าที่มีการขอรับการส่งเสริมผลิตรถยนต์ประเภทนี้ถึง 27,000 ล้านบาท

 .

ทั้งนี้ โครงการผลิตรถยนต์ Eco-Car ที่พร้อมจะเข้ารับการพิจารณาในการประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งต่อไป ได้แก่ 1)บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เงินลงทุน 4,640 ล้านบาท กำลังผลิต 100,000 คันในปีที่ 5 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 ส่งออกร้อยละ 50 2)บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย เงินลงทุน 4,700 ล้านบาท กำลังผลิต 100,000 คันในปีที่ 5 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 10 ส่งออกร้อยละ 90

 .

3)บริษัททาทา มอเตอร์ เงินลงทุน 7,300 ล้านบาท กำลังผลิต 100,000 คันในปีที่ 5 ที่ตั้งโรงงานและแผนการตลาดยังไม่เป็นที่เปิดเผย และ4)บริษัท โฟล์กสวาเกน เงินลงทุน 27,000 ล้านบาท จำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 35 ส่งออกร้อยละ 65 กำลังผลิตและสถานที่ตั้งโรงงานยังไม่เป็นที่เปิดเผย

 .

"เราค่อนข้างตั้งความหวังไว้กับโครงการรถยนต์ Eco-Car ของทางโฟล์กสวาเกนมาก เพราะหากเขาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจริง ด้วยวงเงินลงทุนที่สูงขนาดนี้เท่ากับเป็นการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานขนาดเล็กเข้ามาไว้ยังประเทศไทยทีเดียว ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ภาพรวมของโครงการรถประหยัดพลังงาน ของประเทศไทยก้าวเข้ามาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรถปิกอัพ ในปัจจุบัน" แหล่งข่าวกล่าว

 .

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมูลค่าในการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ Eco-Car ทั้ง 4 โครงการสูงถึง 43,640 ล้านบาท ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณา "อนุมัติ" โครงการให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ที่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่ประมาณ 1 เดือนก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อป้องกันการผิดพลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการเมืองเข้าแทรก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายโครงการในอดีต แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมในเรื่องของแผนงานรวม (package) ของแต่ละบริษัทด้วย

 .

ด้านนายรณชัย จินวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจอินเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ "โฟล์กสวาเกน" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ Eco-Car ของโฟล์กสวาเกนในครั้งนี้ว่า ทาง ยนตรกิจกรุ๊ป ยังไม่ทราบในรายละเอียด คิดว่าน่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากบริษัทแม่มากกว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการเจรจากันในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

 .

"บริษัทเชื่อว่า การยื่นเรื่องเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของโฟล์กสวาเกนนั้น น่าจะเป็นการตัดสินใจของบริษัทแม่โดยตรงในเรื่องของรถยนต์ประหยัดพลังงาน ดังนั้นบริษัทจึงยังไม่ทราบในรายละเอียดของเรื่องนี้"

 .

นอกจากนั้น ในงานมหกรรมยานยนต์เมื่อเดือนธันวามคมที่ผ่านมา บริษัทได้นำรถยนต์รุ่น "แคดดี้" มาเซอร์เวย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้เป็นรถเอ็มพีวีขนาด 5-7 ที่นั่ง ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติ (NGV) ซึ่งเป็นรถที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับเชื้อเพลิงชนิดนี้โดยตรง โดยลดขนาดของถังน้ำมันลงเหลือ 15-20 ลิตรเท่านั้น และการใช้ก๊าซ NGV สามารถวิ่งได้ไกลถึง 400-500 ก.ม.

 .

"ถ้าผลการเซอร์เวย์ออกมาแล้วลูกค้ามีความสนใจ บริษัทอาจจะขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์รุ่นนี้ในประเทศ เพื่อผลิตออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งนี้คงต้องส่งผลการเซอร์เวย์ไปให้บริษัทแม่ได้ตัดสินใจก่อน" นายรณชัยกล่าว

 .

ปัจจุบันโฟล์กสวาเกนมียอดขายรถอยู่ประมาณ 5.7 ล้านคันทั่วโลก และมีการตั้งเป้าว่า ภายในปี 2553 จะมียอดการจำหน่ายใกล้เคียงกับโตโยต้าในปัจจุบันคือ 9 ล้านคัน ทั้งนี้โฟล์กฯจะมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก 10% ด้วยการปรับปรุงการทำงานและได้มีการลงทุน 9.5 พันล้านยูโร ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าเพื่อการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ 20 โมเดล 4 แพลตฟอร์ม

 .

โดยแพลตฟอร์มในอนาคตนั้นจะเป็นการใช้ร่วมกับรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในเครือโฟล์กฯ รวมถึง ลัมโบร์กินี, ออดี้ และเบนท์ลีย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 40% และแพลตฟอร์มรุ่นแรกจะออกสู่ตลาดในปี 2553 ชื่อว่า MQB ซึ่งใช้กับรถขนาดเล็ก-กลาง และคาดว่า จะสามารถนำไปประกอบกับรถรุ่นต่างๆ ของโฟล์กฯได้ถึง 6 ล้านคัน ส่วนรุ่นที่ 2 คือ MHB ซึ่งใช้กับรถรุ่นต่างๆ ที่เป็นแบบมินิคาร์ และแพลตฟอร์มรุ่นอื่นนั้นจะใช้กับรถหรูหราประเภทสปอร์ตคาร์ด้วย

 .

ขณะที่ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวว่า โตโยต้าได้ยื่นขอรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการ Eco-Car ไปก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทันกับกำหนดระยะเวลาเปิดรับโครงการ และบริษัทได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขให้ตรงกับแบบฟอร์มของ BOI พร้อมกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ

 .

โดย BOI จะพิจารณาขอเสนอของโตโยต้าและผู้ผลิตรถยนต์อีก 3 รายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะสิ้นสุดรัฐบาลนี้ เนื่องจากหากปล่อยให้มีการพิจารณาล่าช้าออกไปจนถึงรัฐบาลหน้าอาจจะส่งผลให้โครงการ Eco-Car ล่าช้าออกไปอีก สำหรับรายละเอียดในการเสนอขอรับการอนุมัติและมูลค่าการลงทุนนั้น บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนขั้นต่ำที่ BOI กำหนดไว้ที่ 5,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน

 .

ส่วนที่ตั้งของโรงงานผลิตนั้น บริษัทเชื่อว่าปัจจุบันโรงงานที่เกตเวย์และโรงงานบ้านโพธิ์ ยังคงมีศักยภาพในการผลิตที่สามารถรองรับกับโครงการดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้ง หากมีการส่งออก Eco-Car คาดว่า จะส่งไปยังภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย, เอเชียโอเชียเนีย และนิวซีแลนด์ ว่า จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดเบื้องต้นบริษัทมองว่า Eco-Car จะเป็นรถซับคอมเพล็กซ์ขนาดเล็กกว่ารถในระดับบีเซ็กเมนต์ ส่วนข้อกำหนดในด้านขนาด ตัวถัง และอื่นๆ นั้น

 .

วันนี้ถือว่าไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดสำหรับโตโยต้า แต่ในส่วนของตลาดส่งออกนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เนื่องจากบริษัทต้องพิจารณาจากความต้องการของตลาดว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใดด้วยเพราะถ้าหาก "Eco-Car" เป็นรถยนต์โมเดลใหม่ที่กำลังดูในเรื่องของความเป็นไปได้เพราะกว่าจะมีการผลิตรถ Eco-Car ออกมาจริงๆ คาดว่า น่าจะได้เห็นในช่วงปี 2553-2554 และกว่าจะมีการส่งออกได้น่าจะเป็นปี 2558 ซึ่งยังพอมีเวลาที่จะเตรียมการซึ่งยังพอมีเวลาในการศึกษาอยู่

 .

สำหรับเงื่อนไขในการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รถยนต์ Eco-Car ประกอบไปด้วย 1)จะต้องเสนอแผนการลงทุนเป็น แผนงานรวม (package) ในแผนงานจะต้องระบุรายละเอียดของโครงการประกอบรถยนต์ การผลิตรถยนต์ และการผลิต/จัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ 2)จะต้องมีปริมาณการผลิตจริง (actual production) ไม่น้อยกว่า 100,000 คัน/ปี ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป

 .

3)จะต้องเป็นรถยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง-สิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย "ยกเว้น" รถยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ต้องเป็นรถยนต์ที่มี โครงรถ (platform) เดียวกัน การประหยัดพลังงาน จะต้องมีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตร/100 ก.ม. ตาม combine mode ที่ระบุไว้ใน UNECE Reg.101 Rev.1 ระดับมลพิษเป็นไปตาม Euro 4 UNECE Reg.83 Rev.2(2005) มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัม/1 ก.ม. หรือ UNECE Reg.101 Rev.1ด้านความปลอดภัยจะต้องได้มาตรฐาน UNECE Reg.94 Rev.0 กรณีการชนด้านหน้า และ UNECE Reg.95 Rev.0 จากการชนด้านข้างของตัวรถ

 .

4)จะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักของเครื่องยนต์อย่างน้อย 4 ใน 5 ชิ้นตามที่ BOI กำหนด ได้แก่ cylinder head, cylinder block, camshaft และ connecting rod และต้องมีการผลิต cylinder head, cylinder block และ crankshaft ในขั้นตอนการ machining 5)จะต้องมีขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนของโครงการรวม (package) ทั้งของตนเองและผู้ผลิตชิ้นส่วนรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และ 6)รถยนต์ Eco-Car จะต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม

 .

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ค่ายรถยนต์จะได้รับ ได้แก่ "ยกเว้น" ภาษีนำเข้าเครื่องจักรทุกเขต "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกเขตเป็นระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าการลงทุนของโครงการ (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ส่วนกรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมไม่สามารถผลิตรถยนต์

 .

Eco-Car ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการผลิตจริง (actual production)ไม่น้อยกว่า 100,000 คัน/ปีตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปนั้น จะถูก "เพิกถอน" สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ โดยคิดจากปริมาณการผลิตรวมตั้งแต่ปีที่ 5 ถึงปีที่ 8

 .

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ