ไตรมาสที่ 4 มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 1,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1 เปอร์เซ็นต์ และกำไรสุทธิ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.9% จากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 และผลประกอบการปี 2563 วันนี้ ทำผลงานยอดเยี่ยม สืบเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ในช่วงการแพร่ระบาดที่ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
ไทยยูเนี่ยนรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มียอดขายอยู่ที่ 33,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,938 ล้านบาท สูงขึ้น 26.1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.9 เปอร์เซ็นต์
ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขายอยู่ที่ 14,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 5,287 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารกระป๋องที่สามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้นในช่วงที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น
อย่างไรก็ดีธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขาย 13,738 ล้านบาท ลดลง 6.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปี
สำหรับผลประกอบการประจำปี 2563 ไทยยูเนี่ยนโชว์ผลงานยอดเยี่ยม โดยมียอดขายอยู่ที่ระดับ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9 เปอร์เซ็นต์ มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผล 40 สตางค์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 81.8 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งปีปันผล 72 สตางค์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 53.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนมีผลประกอบการที่เข้มแข็งในปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม เราจะเห็นว่าความต้องการผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าของไทยยูเนี่ยนนั้นสูงขึ้นเนื่องจากคนหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้านบวกกับผู้บริโภคหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นด้วย ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้าและระบบซัพพลายเชนทั้งหมด เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้คุณภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลก”
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญกับงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ด้วยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทหรือ SeaChange® ในการทำหน้าที่สร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกในดัชนีอุตสาหกรรมประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร
ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการจัดอันดับติด 1 ในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสูงสุดในโลก ระดับโกลด์ คลาส (Gold Class) ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2021 ของ S&P Global นับเป็น 1 ใน 5 บริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกที่ได้ระดับโกลด์ คลาส ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากการประเมินด้านความยั่งยืนระดับโลกของ S&P Global ที่มีการประเมินบริษัทมากกว่า 7,000 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรมทั่วโลก
ในปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง เช่น ธุรกิจอินกรีเดียนท์ ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ยูนีกโบน (UniQTMBONE) ผงแคลเซียมบดละเอียดจากกระดูกปลาทูน่า ไม่มีกลิ่นรส จึงไม่เปลี่ยนแปลงรสสัมผัสในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำให้สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหาร แคปซูล อัดเม็ด หรือเป็นสารอาหารเพิ่มลงในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยไทยยูเนี่ยนได้เปิดไลน์เครื่องจักรการผลิตใหม่ในโรงงานสงขลา แคนนิ่ง ที่จังหวัดสงขลา
ในส่วนของการทำงานกับสตาร์อัพ ไทยยูเนี่ยนเดินหน้าสนับสนุนโครงการสเปซ-เอฟ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยสเปซ-เอฟนี้เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกที่ทางบริษัทฯ ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นและนำไปสู่การดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ 6 บริษัทด้วยกัน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนอีก 2 แห่งที่เน้นธุรกิจใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นหลักในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ 4 บริษัทด้วยกัน โดยสามบริษัทแรกจากโครงการสเปซ-เอฟ ได้แก่ มันนา ฟู้ดส์ บริษัทโปรตีนทางเลือก อัลเคมี ฟู้ดเทค ธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยและ บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนบริษัทที่สี่คือ วิสไวร์ส นิวโปรตีน อีกหนึ่งบริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร ถึงแม้ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวในระดับโลกนั้นถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูงทีเดียว โดยปัจจุบันตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกนั้นมีขนาดถึง 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง ปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนได้บริจาคผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 3 ล้านชุดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อดูแลชุมชนและพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“ปี 2563 นับเป็นปีที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายในทุกด้าน แต่ด้วยการบริหารจัดการที่เข้มแข็งของบริษัทฯ และความทุ่มเทของพนักงาน ทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างดี นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังสามารถเจรจาเพื่อตกลงระงับข้อพิพาทเพื่อยุติคดีผูกขาดทางการค้าในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว”
“ผลประกอบการปี 2563 เป็นเครื่องยืนยันว่าสินค้าของไทยยูเนี่ยนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมเชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือกันเราจะผ่านมันไปด้วยกัน และยังมั่นใจว่าไทยยูเนี่ยนจะยังคงผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดีต่อไป” นายธีรพงศ์ทิ้งท้าย