เนื้อหาวันที่ : 2021-02-08 18:51:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1182 views

SEAC x Haier: สองยักษ์ผนึกกำลังยกระดับองค์กรไทยรับยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอน ตั้งศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • SEAC ผนึกกำลัง Haier ประกาศจัดตั้งศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IMRC) เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมองค์กรและการเรียนรู้เชิงประยุกต์สำหรับองค์กรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขับเคลื่อนสู่การทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างแท้จริง
  • ศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งรวบรวมหลักสูตรและองค์ความรู้ด้านการบริหารและจัดการนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก การออกแบบการทรานส์ฟอร์มองค์กร และเป็นสังคมการเรียนรู้แห่งการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กร ด้วยแนวคิด Rendanheyi (เหรินตันเหออี) ของ Haier ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรชั้นนำระดับโลกว่าสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center หรือ SEAC) ร่วมกับ สถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ของ Haier (Haier Model Research Institute หรือ HMI) ประกาศจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Innovation Management Research Center หรือ IMRC) เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมองค์กรและการเรียนรู้เชิงประยุกต์ สำหรับองค์กรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่การขับเคลื่อนความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มขององค์กรในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในตลาดหรือก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเกมได้อย่างทันท่วงที

ศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IMRC) ยังมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้คุณภาพเพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในประเทศไทย ผ่านการเข้าถึงองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กร จากเครือข่ายองค์กรและสถาบันชั้นนำต่างๆ ระดับโลก ที่เคยร่วมงานกับสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ Haier กว่า 64,560 องค์กร ภายใต้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงองค์กรจากทั่วโลกที่มีแนวคิดเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เป็นเครือข่ายของผู้นำและองค์กรที่มีส่วนร่วมจำนวนมาก ที่พร้อมมุ่งผลักดันแนวความคิดและวิธีการจัดการใหม่ๆ สู่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IMRC)

  • เข้าถึงหลักสูตรและองค์กรความรู้ด้านการบริหารและจัดการนวัตกรรมชั้นนำระดับโลกที่ออกแบบเพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กร พร้อมชุดทักษะวิธีคิด และชุดเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว
  • เข้าถึงเครือข่ายระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับภูมิภาค ที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและสนทนากับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
  • เข้าถึงคลังข้อมูลขนาดใหญ่และน่าเชื่อถือของสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ Haier (HMI) จากประสบการณ์การร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ในระดับโลกกว่า 64,560 องค์กร ตลอดจนคลังข้อมูลมหาศาลของ SEAC
  • โอกาสในการเรียนรู้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ Rendanheyi (เหรินตันเหออี) ของ Haier ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลการจัดการธุรกิจที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และเป็นโมเดลที่กำลังปฏิวัติวงการธุรกิจในศตวรรษที่ 21

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC หรือ Southeast Asia Center) กล่าวว่า “การเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับ ‘คน’ อันเป็นรากฐานสำคัญของทุกธุรกิจ SEAC จึงมุ่งผลักดันการทรานส์ฟอร์มธุรกิจขององค์กรและธุรกิจไทยให้ก้าวทันโลก ซึ่งการร่วมมือกับสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ไฮเออร์ (HMI) ในการเปิดศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IMRC) ให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมองค์กรและการเรียนรู้เชิงประยุกต์ครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเราที่ต้องการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยทุกคน ภายใต้พันธกิจ EMPOWER LIVES THROUGH LEARNING ที่เร่งสร้างทักษะผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบทุกเป้าหมายของการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ

มร.จาง รุ่ยหมิ่น ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท Haier กล่าวว่า“ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ไฮเออร์ (HMI) และศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC) ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยแนวคิดและหลักปรัชญาการทรานส์ฟอร์มองค์กรระดับโลกในประเทศไทย โดยเฉพาะโมเดล Rendanheyi ที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งแพลตฟอร์มข่าวเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Bloomberg ว่าเป็นโมเดลการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการจัดการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างผลสำเร็จทางธุรกิจ ทั้งในเชิงของกำไรและการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแนวคิดแบบ Human Value First ของ Rendanheyi นั้น สอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลกในยุค IoT ที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และโมเดลนี้จะเข้ามาช่วยยกระดับองค์กรในไทยให้ก้าวทันองค์กรระดับโลกอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น”

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างคุณค่าให้กับทั้งสององค์กร ภายใต้เป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มองค์กรท่ามกลางยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอน ปัจจุบันองค์กรทุกแห่งต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งใหม่นี้ จะเป็นเสมือนคำตอบสำหรับทุกคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหรือทรานส์ฟอร์มองค์กร ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือกับ SEAC ครั้งนี้ ยังนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของปรัชญาความยั่งยืนภายใต้ระบบนิเวศของ Haier ที่ประกอบด้วยพันธมิตรองค์กรระดับโลกและองค์กรขนาดย่อมกว่า 4,000 แห่งทั่วโลก” มร.จาง กล่าวเพิ่มเติม

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ และได้รับเกียรติจากผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทยหลากหลายแห่งในการเข้าร่วมงานเสวนากับ มร.จาง รุ่ยหมิ่น และ SEAC ในครั้งนี้ อาทิ คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี คุณวิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ คุณศิวะ มหาสันทนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี และคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้กลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน หากต้องการก้าวทันความเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจในการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ จากคนทุกระดับขององค์กร ผ่านวิธีคิด ทักษะ และเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างแท้จริง เพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยองค์กรใดที่ยังคงยืนหยัดลงทุนพัฒนาบุคลากรของตนท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าท้ายที่สุด จะไม่เพียงเป็นองค์กรที่ก้าวหน้าและยั่งยืน แต่ยังเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั้งจากภายในองค์กรสู่ภายนอกอีกด้วย