‘PRIME’ ผนึก ‘ม. พระนครเหนือ’ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการร่วมศึกษา วิจัย และพัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการกับการปฎิบัติงานด้านสหกิจศึกษา และงานวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาออกสู่สังคม เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) อย่างเป็นรูปธรรม
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘PRIME’ บริษัทพลังงานสะอาดชั้นนำ เปิดเผยว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ เราจะเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน เราจึงร่วมมือกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับในด้านเทคนิคและหลักการถ่ายทอดความรู้ด้านวิศวกรรมให้แก่ผู้เรียน เพื่อทำการศึกษาทดลอง วิจัยพัฒนา และทดสอบทางวิศวกรรมของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Photovoltaic Solar Power System) โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะช่วยประหยัดเงินค่าไฟกับผู้ใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศชาติอย่างยั่งยืน”
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือที่สำคัญของทั้งสององค์กร เพื่อผลักดันการต่อยอดนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้สามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิงแล้วหมดไปอย่างน้ำมันหรือถ่านหิน (Fossil Fuel) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับนโยบายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ของประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) ที่ว่าด้วยการเร่งต่อสู่กับสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไป
รศ.ดร. ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ถึงความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ว่า จะเป็นผลดีต่อนักศึกษาของคณะฯ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก เนื่องจากจะได้ข้อมูลที่หลากหลายจากทาง บริษัทไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะส่งผลให้งานวิจัยของนักศึกษาและบุคลากรของคณะฯ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการในด้านบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System) และการเชื่อมต่อพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นต้นแบบแห่งการผลิตครูช่างและสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับมากว่า 50 ปี ในด้านการจัดการศึกษา โดยยึดมั่นการจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งการผลิตครูช่างอุตสาหกรรมจะต้องมุ่งเน้นเนื้อหาทางด้านเทคนิคในแต่ละสาขาความรู้ ควบคู่กับหลักการหรือยุทธวิธีในการถ่ายทอดความรู้ทางวิศวกรรมให้กับผู้เรียน ตลอดจนการวิจัยพัฒนาทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริการทางด้านวิชาการ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภูมิภาคจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง มีหลักสูตรสำหรับนักศึกษามากกว่า 190 หลักสูตร เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานสะอาดชั้นนำ ประกอบธุรกิจหลัก คือ ขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plant) และมีธุรกิจใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้ 3 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop EPC) 2. ธุรกิจขายไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop Private-PPA) 3. ธุรกิจจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงาน (Power-related Material and Equipment Trading) โดยธุรกิจหลัก มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และกัมพูชา มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 292 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโครงการที่พัฒนาเสร็จและดำเนินการขายไฟแล้ว (COD-Installed Capacity) 180 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 112 เมกะวัตต์ โดยมีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้ามีกำลังผลิตติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ในส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯ งวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมเป็น 568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% YoY สำหรับฐานะทางการเงิน บริษัทฯ มีสินทรัพย์จำนวน 5,731 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 2,815 ล้านบาท และหนี้สินรวม 2,916 ล้านบาท ทำให้มีอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) เพียง 1.03 เท่า ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน