เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ส่งมอบเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัด นวัตกรรมจากฝีมือคนไทย ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้ในห้องผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก อาคาร สก. เครื่องคิดค้นและออกแบบโดย ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ และคณะ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ร่วมผลิตโดย บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
โดยมี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มจธ. และ คุณธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งมอบเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอกให้กับ ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.นพ.พัชร อ่องจริต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านภาพลักษณ์องค์กร คุณปวีณา แน่นหนา ผู้ตรวจการพยาบาล กลุ่มงานการพยาบางเฉพาะทางผ่าตัด และคุณพชรพร ยอดเพ็ชร หัวหน้าหอผู้ป่วย หอผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก สก5 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ อาคาร สก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เครื่องทำน้ำแข็งอาจฟังดูแล้วไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรักษาทางการแพทย์ แต่จริงๆ แล้ว น้ำแข็งมีความสำคัญยิ่งสำหรับศัลยกรรมทรวงอก
ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การผ่าตัดที่ต้องเปิดช่องอกของผู้ป่วยนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำแข็งเพื่อรักษาให้อวัยวะต่างๆ ยังคงสดขณะผ่าตัด แต่จะใช้น้ำแข็งที่ทำจากน้ำธรรมดาไม่ได้ต้องใช้น้ำเกลือที่ใช้ทางการแพทย์ (0.9% Normal Saline) เพราะเป็นความเข้มข้นที่เท่ากับความเข้มข้นของเกลือในร่างกายคน ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เริ่มต้นด้วยการแช่น้ำเกลือนานประมาณ 3 ชั่วโมงเมื่อจะใช้ก็นำออกมาทุบให้แตกแล้วจึงใส่ลงไปที่ช่องอก เพื่อรักษาอวัยวะให้สดและถ้าเป็นการผ่าตัดหัวใจก็จะช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบขณะหัวใจหยุดเต้นระหว่างการผ่าตัดซึ่งแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการใช้น้ำแข็งที่ผ่านการทุบเพราะน้ำแข็งอาจมีความแหลมคมซึ่งอาจไปทำลายเนื้อเยื่อหรือแม้กระทั่งอาจมีเศษวัสดุที่เกิดจากการทุบถุงใส่น้ำเกลือ รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ด้วย
ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยปกติน้ำแข็งที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจทำมาจากน้ำเกลือที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็ง หรือช่องฟรีสในตู้เย็นนาน 3 – 4 ชม. เวลานำมาใช้ก็จะต้องใช้ท่อนเหล็กทุบก่อน ทำให้ก้อนน้ำแข็งมีความแหลมคม และไม่ละเอียดพอที่จะวางลงในช่องอกให้ครบทุกส่วน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทำให้ติดเชื้อได้ จึงต้องการน้ำแข็งที่มีความเนียนและนุ่ม (Slush) ลักษณะคล้ายวุ้น สะอาด ปลอดภัย และทำความเย็นได้ดีกว่า
ศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ได้รับโจทย์จากทางทางแผนกศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ก็ได้นำมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาที่ทำวิชาโครงงานในชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยโจทย์คือจะทำน้ำแข็งเพื่อใช้ในการผ่าตัดจากน้ำเกลือได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปสัมผัสกับน้ำแข็ง หรือให้ผ่านกระบวนการต่างๆ น้อยที่สุด เพื่อความสะอาดปลอดภัยและสะดวกในการใช้งานและน้ำแข็งที่ได้ต้องเป็น Slush ที่มีความนุ่มเนียน ซึ่งการพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งนี้ ผ่านการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ด้วยวิธีต่างๆ จากนักศึกษาที่ทำวิชาโครงงานชั้นปีที่ 4 ถึง 3 รุ่นด้วยกันจนมาประสบความสำเร็จในรุ่นที่ 3
เครื่องทำน้ำแข็งดังกล่าว ประกอบด้วย อุปกรณ์หลักๆ 2 ส่วน คือ ชุดทำความเย็น และกลไกที่ทำให้น้ำเกลือในภาชนะเคลื่อนไหว โดยจะใช้แผ่นฟิล์มพลาสติกที่ผ่านการฆ่าเชื้อมารองรับน้ำเกลือ เพื่อไม่ให้น้ำเกลือสัมผัสกับภาชนะโดยตรง จากนั้นจึงใส่น้ำเกลือปริมาณ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรลงไปแล้วเริ่มเดินเครื่อง การทำความเย็นพร้อมกับการไม่ให้น้ำเกลือหยุดนิ่ง สามารถผลิตน้ำแข็งจากน้ำเกลือให้ออกมาในรูปลักษณะ Slush ตามที่ต้องการ ช่วยเพิ่มคุณภาพของน้ำแข็งที่ใช้ในการผ่าตัดและลดเวลาในการเตรียมน้ำแข็งโดยใช้เวลาในการผลิตน้ำแข็งเพียง 45 นาที
ใส่น้ำเกลือปริมาณ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
นายธวัชชัย เขียวคำรพ ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัด กล่าวว่าเครื่องดังกล่าว มีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ ซึ่งในอดีตน้ำแข็งที่ใช้ในการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมีปัญหาคือ น้ำแข็งที่ได้มีความแหลมคม เสี่ยงต่อการปนเปื้อน และที่สำคัญใช้เวลาในการทำน้ำแข็งนานมากต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง
คุณสมบัติเด่นของเครื่องก็คือ น้ำแข็งที่ได้สะอาด ปลอดภัย ปลอดเชื้อ ซึ่งจะเห็นว่าตัวอุปกรณ์ของเครื่องจะไม่สัมผัสกับน้ำเกลือเลย และเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาในการทำน้ำแข็งแบบเดิมจาก 3 - 4 ชม. เหลือเพียง 45 นาทีก็ได้น้ำแข็งตามที่ต้องการมาใช้ในการผ่าตัด จากนี้นอกจากจะนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลแล้ว ยังได้รับความสนใจจากภาคเอกชนนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ผลิตเครื่องออกจำหน่ายต่อไป
น้ำแข็งที่มีความเนียนและนุ่ม (slush) ลักษณะคล้ายวุ้น