เนื้อหาวันที่ : 2019-01-11 17:46:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1877 views

ช่างภาพระดับโลก จัดแสดงภาพถ่าย “คนงานก่อสร้าง -- Asian Workers Covered”

ช่างภาพระดับโลกราล์ฟ ทูเท็น(ซ้าย) และเบนจามิน ลิงค์

ช่างภาพระดับโลก ราล์ฟ ทูเท็น จัดแสดงภาพถ่ายอันน่าตื่นตะลึง คืนอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีให้กับกลุ่มคนที่โดยปกติถูกหลงลืมและมองข้าม ที่ เลอ ลิงค์ แกลเลอรี ซอยต้นสน

ราล์ฟ ทูเท็น หนึ่งในศิลปินระดับโลก 75 คน ที่ได้รับเชิญมาร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร 20 แห่ง และใกล้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้  ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ทูเทนนำภาพชุด “เอ.ดับเบิลยู.ซี 2018 (A.W.C. - Asian Workers Covered)’’ มาแสดง  ความมหัศจรรย์ของภาพถ่ายอันกร้าวแกร่งของทูเทนในงานชุดนี้ คือ ความสามารถในการทำให้สิ่งที่ถูกบดบังเป็นตราบาปของสังคมกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้โจ่งแจ้งด้วยตาเปล่า โดยนำเสนอภาพขนาดยักษ์ 14x14 เมตรของคนงานก่อสร้างหญิง จัดแสดงอย่างโดดเด่นที่หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ส่วนจอภาพในห้างทันสมัยกลางกรุงเปล่งภาพถ่ายของเขาให้นักช้อปที่เดินผ่านไปมาได้เฝ้ามอง

ตอนนี้ เลอ ลิงค์ อาร์ตแกลเลอรีเปิดใหม่ที่ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต โดยเบนจามิน ลิงค์ ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและภัณฑารักษ์ ได้คัดเลือกและนำเสนอภาพถ่ายอันน่าตื่นตะลึงของราล์ฟ ทูเทน มานำเสนอภายใต้ชื่อ “เอ.ดับเบิลยู.ซี 2018-2019 ผลงานที่นำมาแสดงเป็นภาพที่เห็นจนชินตาแทบทุกที่ในประเทศไทย คือ ภาพของคนงานก่อสร้างที่ปกปิดร่างกายตัวเองจนมิดชิด คนงานหลายพันคนทำงานอาบเหงื่อในอากาศร้อนระอุ บนตึกระฟ้าที่กำลังก่อสร้างหรือข้างถนนหนทาง เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน พวกเขานั่งเป็นตัวประกอบหลบมุมอยู่ในความฝันของคนเมืองที่พวกเขาถูกเกณฑ์มาให้ก่อสร้าง พวกเขาหัวเราะ กินข้าวและสูบบุหรี่ บางครั้งโดยที่ไม่ถอดเครื่องปกปิดร่างกาย ทั้งหน้ากาก แว่นกันแดด ผ้าโพกหัว ผ้าพันคอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บดบังพวกเขามิดชิดจนกลายเป็นมนุษย์ที่คนทั่วไปมองแทบไม่เห็น

ผลงานของทูเท็นซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ เลอ ลิงค์ แกลเลอรี ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต

ทูเทนถ่ายภาพชุด “เอ.ดับเบิลยู.ซี’’ ชุดแรกในระหว่างปี 2006 ถึง 2009 เขาสร้างสตูดิโอแบบเคลื่อนย้ายได้ มีเพียงฉากหลังสีดำกับไฟไม่กี่ดวง ตามสถานที่ที่มีงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ และถ่ายภาพคนงานก่อสร้างทั้งชายและหญิงชาวไทย ลาว กัมพูชา และเมียนม่าร์  ปี 2012 ทูเทนถ่ายภาพชุดที่สองที่จังหวัดราชบุรี และนำภาพถ่ายเหล่านั้นพิมพ์ลงบนป้ายไวนิลขนาดสองพันตารางเมตร ก่อนจะนำผลงาน “คนงานก่อสร้างเมืองราชบุรี” ออกแสดงกลางแจ้งตามสถานที่สาธารณะในจังหวัด นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปะร่วมสมัยถูกนำเสนอในสถานที่สาธารณะต่อผู้คนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน

ทูเทนถ่ายภาพชุด “เอ.ดับเบิลยู.ซี’’ ด้วยกล้อง Hasselblad V แบบ mid-format และฟิล์มเนกาทีฟ ภาพของเขาดูเหมือนเรียบง่ายแต่มันซ่อนไว้ด้วยความลึกซึ้ง ความยุ่งเหยิงของสีสันที่โลดแล่นบนอาภรณ์ที่ปกปิดศีรษะและใบหน้าของผู้ถูกถ่าย ทั้งดูทันสมัยและไร้ระเบียบไปพร้อม ๆ กัน บ่งบอกถึงความมีชีวิตชีวาและความไม่ย่อท้อ อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับดวงตาที่ว่างเปล่าของพวกเขา การซุกซ่อนใบหน้าและร่างกายของคนงานก่อสร้างเหล่านี้ มีสาเหตุมากกว่าเพียงความจำเป็นต้องป้องกันผิวหนังจากแดด ฝุ่น และมลภาวะ  ในหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ผิวสีอ่อนเป็นลักษณะอันน่าปรารถนา เป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคมที่สูงส่งและความมีอันจะกิน ดังนั้นภาพถ่ายของทูเทนจึงเป็นภาพของคนที่กลัวดวงอาทิตย์และพลังงานของมัน นอกจากนี้ คนงานก่อสร้างจำนวนมากเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย การปกปิดร่างกายจึงสะท้อนถึงความกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วย  ภาพถ่ายของทูเทนทำให้คนไทยมองเห็นประเทศของตนเองจากอีกมุมหนึ่ง เป็นการย้ำเตือนคนไทยให้ฉุกคิดว่าเมืองเทพสร้างของพวกเขา แท้จริงแล้วถูกสร้างด้วยมือของใคร ในขณะเดียวกัน ภาพของทูเทนยังคืนอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีให้กับกลุ่มคนที่โดยปกติถูกหลงลืมและมองข้าม  

ราล์ฟ ทูเทน เกิดในแคว้นไรน์แลนด์ของประเทศเยอรมนี เขาสำเร็จวิชาถ่ายภาพสถาปัตย์จากช่างภาพปรมาจารย์เคลเมนส์ ฮาร์ทเซ่นบุช ในปี 1978 หลังจากนั้นทำงานถ่ายภาพนิ่งให้กับภาพยนตร์เยอรมันเรื่องสำคัญหลายเรื่อง รวมถึงหนังรางวัลออสการ์ The Tin Drum ของผู้กำกับโวลเกอร์ ชลอนดอร์ฟ ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของกุนเธอร์ กราสส์ และเรื่อง Two German Sisters ของผู้กับมากาเรตเธอ ฟอน ทรอตต้า ซึ่งได้รับรางวัลสิงโตทองคำ หนังสือภาพของทูเทนเล่มแรก Eyes of Wisdom เป็นงานรวมภาพถ่ายผู้นำทางศาสนาคนสำคัญจำนวนมากทั่วโลก ได้รับคำชมล้นหลามในระดับนานาชาติและได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Hasselblad Master Award ในปี 2009

ผู้สนใจสามารถเข้าชมภาพถ่าย “คนงานก่อสร้าง” ในชุด “เอ.ดับเบิลยู.ซี 2018-2019” ของราล์ฟ ทูเทน ได้ที่ เลอ ลิงค์ แกลเลอรี (Le Link Gallery) ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต  เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เที่ยงถึง 6 โมงเย็น จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้  โทร. 095-591-5041 www.lelinkgallery.com / www.tooten.com