ในยุคที่โลกของ AI หรือที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว และนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างแพร่หลาย สังเกตได้จากการพัฒนาคิดค้นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน อาทิ เทคโนโลยีการสั่งการด้วยเสียงอัจฉริยะ , การพิมพ์ด้วยเสียง หรือแม้แต่การใช้ AI ช่วยคิดวิเคราะห์แทนมนุษย์ แต่สิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากต่างประเทศโดยทั้งสิ้น มาในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่น้อง ๆ เด็กไทยสามารถแสดงศักยภาพพัฒนาระบบ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้แล้ว
นายพัทธนันท์ นุ่มผ่อง หรือน้องอาร์ม หนุ่มน้อยวัย 16 ปี จากโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนยีสุรนารี จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้เข้าร่วมการแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2561 (AI and ROBotics Innovation Contest: AIROBIC 2018) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้โชว์ไอเดียสร้างสรรค์หุ่นยนต์แห่งอนาคตที่จะช่วยให้เรื่องของการจองห้องพักให้เป็นเรื่องง่าย ให้ชื่อว่า“Botnoi Reception” โดยเจ้าบอทน้อยนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากปัญหาในการจองโรงแรมที่พัก ที่ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร อาทิ พนักงานต้อนรับไม่เพียงพอ การเช็คอินล่าช้า ส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการไม่ประทับใจในบริการของสถานบริการนั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนา “Botnoi Reception” ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยเพื่อเป็นผู้ช่วยให้แก่ผู้ประกอบการสามารถให้การต้อนรับ และจัดการเรื่องของการจองโรงแรม และเข้าพักได้ในระยะเวลาอันสั้น
“Botnoi Reception นี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Botnoi chat bot ซึ่งเป็นระบบตอบคำถามอัตโนมัติ ในเรื่องของการเข้าจองห้องพัก เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจึงได้นำระบบแชทมาพัฒนาเข้ากับหุ่นยนต์ ซึ่งการออกแบบตามแนวคิดนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการที่นำ Botnoi ไปใช้สามารถลดต้นทุน และแก้ปัญหาการจองห้องพัก และการเช็คอินที่ล่าช้าได้” น้องอาร์ม กล่าว
สำหรับการใช้งานนั้น ไม่ซับซ้อนมากนัก น้องอาร์มคอนเฟิร์มเลยว่าเพียงแค่ 1 นาที ก็สามารถเช็คอินเข้าพักได้ โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ว่าต้องการที่พักในพื้นที่ใดผ่านระบบ Chat bot Sabye booking bot ใน Line Official ของ Botnoi Reception จากนั้นระบบก็จะนำเสนอที่พักที่ใกล้เคียงให้เลือก เมื่อลูกค้าตกลงเลือกที่พักแล้ว ระบบจะส่งข้อมูลไปยังโรงแรมที่พักที่ได้เลือกไว้ และเมื่อเดินทางมาถึงที่โรงแรมสามารถเช็คอินผ่านระบบของ Botnoi Reception โดยการตรวจใบหน้า และระบบจะจัดส่งข้อมูลห้องพักทาง SMS เพื่อยืนยันตัวตน เพียงเท่านี้ก็สามารถเช็คอินและเข้าพักได้แล้ว
จากผลงานชิ้นนี้จึงส่งผลให้น้องอาร์มคว้ารางวัลในการแข่งขันมาได้ถึง 2 รางวัล คือ รางวัลดีเด่น ประเภท Open Topic และรางวัล Popular vote บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับเด็กอายุ 16 คนนี้ การใช้งานของบอทน้อยที่เป็นเหมือนผู้ช่วยในการให้บริการ สามารถลดต้นทุนทางด้านการบริหารจัดการการต้อนรับลูกค้า ช่วยล่นระยะเวลาในการบริการให้สะดวกรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดความคิดให้สามารถพูดคุย โต้ตอบได้อย่างชาญฉลาดประนึ่งเพื่อนคู่คิด
“งานอดิเรกบางชิ้น หากเราคิดและพัฒนาผลงาน มองให้ไกลในเชิงธุรกิจ ก็สามารถเป็น Start Up มีธุรกิจที่ดีเป็นของตนเองในอนาคตได้ ซึ่งการเข้าร่วมแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2561(AIROBTIC 2018) นี้ทำให้ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับประเทศ และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆพี่ๆในทีมที่พร้อมช่วยเหลือเราในการพัฒนาผลงาน และจุดประกายการต่อยอดนำผลงานนี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์อีกด้วย” น้องอาร์ม กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการจัดการแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2561 (AI and ROBotics Innovation Contest: AIROBIC 2018) จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้บุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา สร้างวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำเอาปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อำนวยความสะดวกก่อให้เกิดมูลค่าในเชิงสร้างสรรค์ทั้งด้วนเศรษฐกิจ การศึกษา งานด้านอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสิ่งอำนวยความสะดวกในปัจจุบันและอนาคต ที่จะสามารถนำไปต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานที่สามารถจะนำไปผลักดันประเทศในด้านต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างของ “Botnoi Reception” และผลงานอื่นๆ ที่เป็นผลงานจากนักเรียนทั่วประเทศที่ได้ส่งเข้าร่วมโครงการ ก็ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่สะท้อนถึงความสามารถของเด็กไทยในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี AI เพื่อเข้ามาแก้ปัญหา และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ซึ่ง อพวช. จะยังคงเดินหน้าที่จะสนับสนุนตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตอย่างต่อเนื่อง