เนื้อหาวันที่ : 2007-12-12 10:59:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1752 views

โครงการจับคู่นวัตกรรม เพิ่มศักยภาพแข่งขันอุตสาหกรรมไทย

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ลงนามความร่วมมือใน โครงการ Mapping และ Matching นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย

 .

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน(GTZ) ลงนามความร่วมมือในโครงการ Mapping และ Matching นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

.

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) เปิดเผยว่า "โครงการ MappingและMatching จับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย" เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-เยอรมัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในแต่ละภูมิภาคของไทย

.

หน้าที่ของ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)ในโครงการนี้จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการให้ทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งหากระบวนการทำงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับการทำงานเดิมของ iTAP คือ เสาะหาการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเครือข่ายพันธมิตรที่ดีเหล่านี้จะช่วยกันผลักดัน ส่งต่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต้นน้ำถ่ายทอดไปสู่ปลายน้ำให้กับอุตสาหกรรมไทย

.

 ความร่วมมือกับ GTZ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่ง iTAP ก็มีเครือข่ายพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยเสริมด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรด้านกุ้ง, ผักและผลไม้, ปาล์มน้ำมันและยางพารา

.

ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้จัดการเครือข่าย iTAP ภาคใต้ตอนล่าง มอ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเครือข่ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพทาง SMEs ในภูมิภาคให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น สนับสนุนการทำธุรกิจในรูปแบบเครือข่าย (Cluster) โดยเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่กับสถาบันการศึกษาและวิจัยและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ

.

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มาก่อให้เกิดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดสำหรับในโครงการ Mapping และ Matching จับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมายนี้จะเริ่มดำเนินการใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และ ยางพารา โดยการดำเนินโครงการจะเป็นการสำรวจทำแผนที่ความต้องการ หาศักยภาพของพื้นที่

.

ซึ่งจะเน้นการพัฒนาไปสู่การเพิ่มมูลค่า พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยจะเป็นโครงการนำร่องที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูล วางแผนการพัฒนาทั้งด้านปาล์มน้ำมันและยางพาราอย่างเป็นระบบ ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมทั้งสองด้านอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

.

ด้าน มร.เยอร์เกน คอคห์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย(GTZ) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับศูนย์TMC ของสวทช.ผ่านเครือข่ายโครงการ iTAP และมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทั้งการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภูมิภาคทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตร

.

 เพื่อเสริมสร้างระบบนวัตกรรมให้ยั่งยืน นวัตกรรมเป็นการพัฒนากระบวนการใหม่ ๆ ที่จะสามารถสร้างตลาดขนาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วย"

.

สำหรับการสนับสนุนในโครงการนี้ ศูนย์TMCและGTZ จะร่วมสนับสนุนในหลายด้าน เช่น คณะทำงานในการบริหารจัดการโครงการทั้งทางปฏิบัติและการเชื่อมโยงกับเครือข่าย สนับสนุนเงิน สำหรับการดำเนินงานด้านต่างๆเช่น การจัดประชุม ฝึกอบรมโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาแนะนำ เป็นต้น