เนื้อหาวันที่ : 2018-09-26 14:26:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1887 views

“คุณค่าครู” ในยุคเทคโนโลยีป่วนโลก บนเวทีเสวนาเปิดตัวงาน EDUCA 2018

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน EDUCA 2018 หรือ มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งจัดต่อเนื่องโดยปีนี้นับเป็นปีที่ 11 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยสนับสนุนให้ “ครู” เป็นวิชาชีพที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ ภายใน พ.ศ.2579 “ประเทศไทยต้องหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ประเทศไทย 4.0” ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน คำถามที่สำคัญคือ “การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด กระทบต่อการพัฒนาคนอย่างไร ที่สำคัญกระทบต่อคุณค่าวิชาชีพที่สร้างคนอย่างวิชาชีพครูมากน้อยเพียงใด”

งานวิจัยทางการศึกษาระดับสากล พบว่า ในบางประเทศคุณค่าของครูถูกลดทอนลงเรื่อย ๆ เช่น รายงานของ OECD ปี 2018 เรื่อง การให้คุณค่าแก่ครู และยกระดับสถานภาพของครู วิธีที่ชุมชนจะช่วยครูได้ (Valuing our Teachers and Raising their Status: How Communities Can Help) โดย Andreas Schleicher พบว่า คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ครูเครียดและหมดพลังในการสอน เช่นเดียวกับ งานวิจัย TALIS ที่พบว่า มีครูน้อยกว่าหนึ่งในสามเชื่อว่า “อาชีพของตนมีคุณค่าในสังคม” แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษาที่ส่วนใหญ่ สังคมเหล่านั้นให้คุณค่าแก่วิชาชีพครูอย่างมาก และ ตัวครูเองก็ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของตนในการพัฒนาประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ฟินแลนด์ และ นิวซีแลนด์  เป็นต้น

การจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงการสร้างคนคุณภาพที่มีความสมบูรณ์ โดยให้ความสำคัญทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมี “ครู” เป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างนโยบายของรัฐสู่ความเป็นจริงในห้องเรียน ในโลกที่ไม่แน่นอน และก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ห้องเรียนในวันพรุ่งนี้ยังคงต้องการ “ครู” ที่ไม่ใช่เพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถมาทดแทนได้ในไม่ช้า แต่คือ ผู้ปลูกฝังเยาวชน ในวิชาความเป็นคน รู้ถูกผิด มีน้ำใจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สอดคล้องกับงานวิจัยที่กล่าวถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่พบว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทักษะการเรียนรู้ในเรื่องอารมณ์และสังคม อย่างทักษะการทำงานอย่างร่วมมือรวมพลัง การสื่อสาร การแก้ปัญหาจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญมากกว่าทักษะอื่น ๆ

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สังคมจำเป็นต้องให้คุณค่าแก่วิชาชีพครู เพราะงานวิจัยก็พิสูจน์มาแล้วว่า ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการศึกษาให้ความสำคัญและคุณค่าแก่ครู ครูเหล่านั้นปรับตัวเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกในทุก ๆ เรื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะตระหนักดีว่าตัวเองมีคุณค่ามากเพียงใดต่ออนาคตของประเทศตน ส่วนสังคมก็สนับสนุนการเรียนรู้ของครูอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ทุกคนได้ใคร่ครวญว่า สังคมไทยให้คุณค่าแก่ครูไทยอย่างไร ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หากเราอยากประสบความสำเร็จเรื่องการศึกษา เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เราภูมิใจที่ EDUCA เป็น มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่จัดบนฐานของงานวิจัยทางการศึกษาจากประเทศชั้นนำระดับโลก (Research based Educational Event) ที่ต่างก็ตระหนักว่า “ครู” คือ ผู้ให้ ผู้นำ และผู้หล่อหลอมความแข็งแกร่งอนาคตของประเทศชาติ ในปี 2561 นี้ EDUCA มีแนวคิดการจัดงาน คือ Value of Teacher : คุณค่าของครู เพื่อกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึง “คุณค่าของครู” ท่ามกลางกระแสโลกดิจิทัลและวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 นายศีลชัย กล่าวทิ้งท้าย

งาน EDUCA 2018 หรือ มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “Value of Teachers : คุณค่าของครู” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 17–วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.educathai.com และ www.facebook.com/educathai/ หรือ โทร.0–2748-7007 ต่อ 147 (วันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30–17.00 .)

คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช)

คุณฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรสำหรับ Girl Rising Thailand ผู้แทนจากมูลนิธิ Teach for Thailand (TFT)

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บ.เทคซอส มีเดีย จก.