น้อง ๆ ชมการสาธิตการทำงานของนวัตกรรมหุ่นยนต์เก็บขยะตัวแรกของประเทศไทย
ด้วยมือเล็ก ๆ ของนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์และพลังความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาช่วยพลิกฟื้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลซึ่งกำลังจะเสื่อมโทรมลงให้คงอยู่ต่อไปอย่างสมดุล ทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ทะเลไทยยังจะคงมีผู้พิทักษ์อย่างแน่นอน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศป่าชายเลน ไปจนถึงการเพาะฟักลูกปูและทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนเรียนรู้การวางแผนต่อยอดโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปปฏิบัติจริงในการแก้ไขปัญหาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวหรือในชุมชน อันเป็นกิจกรรมไฮไลท์ของค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่ภาคใต้เป็นภาคแรกในปีนี้ ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate)” โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝัง สร้างค่านิยม สร้างเครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์ที่จะสานต่อดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเราต่อไปในระยะยาว
กิจกรรมจำลองการขุดหลุมปิโตรเลียม
โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 5 นี้ จะจัดขึ้น 4 ค่ายใน 4 ภาค โดยคัดเลือกเยาวชน ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เข้าค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดย ปตท.สผ. จะสนับสนุนทุนจำนวนค่ายละ 10 ทุน แก่เยาวชนที่ผ่านการอบรมและชนะการประกวดโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในค่าย เพื่อให้นำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายไปปรับใช้ในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนหรือโรงเรียนของตนเองต่อไป ซึ่งที่ภาคใต้มีเยาวชนระดับชั้น ม.ปลาย ผ่านการคัดเลือก 70 คน จาก 13 จังหวัดมาเข้าร่วมกิจกรรมค่าย
นางประณต ติราศัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกิจการองค์กรและกำกับการปฏิบัติตามนโยบาย ปตท.สผ. กล่าวว่า “บริษัทฯ มุ่งมั่นเสริมสร้างจิตสำนึกรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดย PTTEP Teenergy ปีที่ 5 นี้ ปตท.สผ. ได้เพิ่มความพิเศษด้วยการนำแนวคิด STEM หรือที่เรียกว่า 'สเต็มศึกษา' มาปรับใช้กับกิจกรรมค่าย โดยบูรณาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ให้เยาวชนนำความรู้ในทุกแขนงวิชามาพัฒนาเป็นองค์ความรู้และนวัตกรรมในการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เพื่อสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งในแต่ละค่ายจะมีพนักงานจิตอาสาของ ปตท.สผ. ร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ ด้วย”
ค่าย PTTEP Teenegy เริ่มต้นวันแรกด้วยกิจกรรม “เปิดโลกพลังงาน” แนะนำภารกิจของ ปตท.สผ. ในการเป็นนักบุกเบิกผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อจุดประกายให้น้องๆ ได้เห็นแหล่งที่มาของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และได้เดินทางไปยังโครงการฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลา (PSB) อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อเรียนรู้ถึงความสำคัญของฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ซึ่งรองรับการปฏิบัติการของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จากนั้นจึงเดินทางไปทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยกิจกรรม “เก็บขยะชายหาดบ้านเล” งานนี้น้อง ๆ ทั้ง 70 คน ได้ร่วมแรงร่วมใจเก็บขยะชายหาดจนสะอาดสะอ้าน และยังได้ชมการทำงานของหุ่นยนต์เก็บขยะชายหาดต้นแบบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังร่วมกันพัฒนา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนด้วย
สนุกสนานกับกิจกรรมเพาะฟักลูกปู
เตรียมปล่อยลูกปูลงสู่ทะเล
ก่อนจบกิจกรรมวันแรก น้อง ๆ ได้เดินทางไปเรียนรู้การอนุรักษ์ช่วยฟื้นฟูทรัพยากร“ปูม้า” ด้วยกิจกรรมการเพาะฟักลูกปู โดยคัดเลือกปูไข่นอกกระดองที่มีสีดำหรือเทามา “ยีไข่” ก่อนนำไปเพาะฟัก จนลูกปูโตได้ขนาดที่จะปล่อยคืนสู่ทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณปูในธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านจับปูได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน น้อง ๆ ทั้ง 70 คน ได้ทดลองการยีไข่ปู และร่วมปล่อยลูกปูคืนสู่ทะเล อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยจุดประกายให้เยาวชนตระหนักถึงความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลจากการปฏิบัติจริงด้วย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องทะเลไทย
อีกกิจกรรมที่สร้างความประหลาดใจ ช่วยกระตุ้นไอเดีย และช่วยให้น้องๆ เข้าใจถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ คือ “แตะจากเล” โดยวิทยากรกลุ่มทะเลจร ได้มาสอนทำ ‘รองเท้าแตะ’ และ ‘พื้นรองเท้า’ จากขยะรองเท้าริมชายหาด เป็นการชุบชีวิตขยะให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะส่งผลกระทบกับชายหาด และยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วย จากนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องทะเลไทย ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับน้องๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ทะเลไทย และแนวทางอนุรักษ์ทะเลแบบสมัยใหม่ ด้วยกิจกรรม “ทะเลไทย ระดับโลก” ที่ช่วยปลุกพลังนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ด้วยการเล่าประสบการณ์ของคนทำงานที่มีหัวใจอนุรักษ์ในการทำโครงการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ
ผลงานการนวัตกรรม “แตะจากเล” รองเท้าที่ประดิษฐ์จากขยะรองเท้าในทะเล
เมื่อเสร็จกิจกรรมชายหาด น้อง ๆ ก็ได้เข้าไปยังพื้นที่ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน บ้านหัวเขา อ.สิงหนคร เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน งานนี้ ได้ลงมือลุยโคลนปลูกพันธุ์ไม้ชายเลนด้วย แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ใบหน้าเปื้อนยิ้มและแววตามุ่งมั่นของน้อง ๆ บ่งบอกชัดเจนว่าจะช่วยกันปลูกป่าชายเลนอย่างไม่ย่อท้อ
ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน
ระดมสมองคิดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นอกจากกิจกรรมสนุก ๆ แฝงความรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอัดแน่นตลอด 3 วัน ในวันสุดท้ายของค่าย น้อง ๆ ได้ระดมสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองและเพื่อนในกลุ่ม หาวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหรือชุมชนของตัวเอง งานนี้ ปตท.สผ. เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะอยากให้เยาวชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่น้อง ๆ แต่ละกลุ่มนำเสนอนั้น มีความน่าสนใจมากทีเดียว
น้องซอฟรอน หรือ นายซอฟรอน กูวะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกำแพงวิทยา จังหวัดสตูล ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เล่าให้ฟังถึงความประทับใจจากการร่วมค่ายในครั้งนี้ว่า แม้ตนเองจะอาศัยอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับทะเล แต่ก็ยังไม่เคยคิดเรื่องของการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างจริงจัง หรือแม้แต่การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น การปลูกป่าชายเลน ก็มีโอกาสได้ลงมือทำเป็นครั้งแรกในค่าย PTTEP Teenergy ค่ายนี้ทำให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้น ทำให้รู้ว่าทุกสิ่งที่เราทำ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งสิ้น หลังจบค่ายก็จะนำความรู้ที่ได้รับจากวิทยากร ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อมั่นว่า "คนละไม้คนละมือ" จะสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นได้
ด้าน น้องจุ๊บแจง หรือ นางสาวพัชราภรณ์ ชูแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สมาชิกกลุ่ม “เบาะนั่ง D.I.Y” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนในการทำโครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เล่าถึงแนวคิดของโครงการว่า เกิดจากความต้องการที่จะลดปริมาณขยะในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก ซองขนม ด้วยการนำมาประดิษฐ์เป็นเก้าอี้นั่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยจะนำเบาะนั่งที่ผลิตได้ไปมอบให้กับห้องสมุดและสถานที่สาธารณะในชุมชน กิจกรรมนี้จะช่วยสร้างจิตสำนึกให้นักเรียน รวมถึงคนในชุมชนให้รู้จักการคัดแยกขยะ และนำขยะเหล่านั้นกลับมาชุบชีวิตและใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกครั้ง และยังสามารถต่อยอดให้สามารถจำหน่ายสร้างรายได้สู่โรงเรียนและชุมชนได้ต่อไปในอนาคต
โครงการ PTTEP Teenergy ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3 ป. คือ ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน โดยเชื่อมั่นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการก้าวออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น ด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำด้วยตนเอง