การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะผู้ประกอบการและนักลงทุน ภายใต้ความร่วมมือของ Japan Industrial Location Center: (JILC) จากประเทศญี่ปุ่นร่วมชมนิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เผยนักลงทุนและผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวให้ความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในจังหวัดระยอง พร้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในจังหวัดสงขลา เนื่องจากมีจุดยุทธศาสตร์และมีศักยภาพในการรองรับการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามขณะนี้ กนอ.ได้เตรียมความพร้อมพัฒนาพื้นที่ EEC และ SEZ ให้เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนกว่า 9,500 ไร่ พร้อมด้วยบริการด้านสาธาณูปโภค สิทธิประโยชน์ทางภาษี สิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับนักลงทุนจากญี่ปุ่นต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานบริการและลูกค้าสัมพันธ์ เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่ กนอ. ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับ Japan Industrial Location Center: (JILC) เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมด้านการลงทุนของนักธุรกิจ และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองหน่วยงานในโครงการต่าง ๆ อาทิ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่อื่นๆ เพื่อขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีความจริงจังและเป็นไปได้มากขึ้น ล่าสุด กนอ.จึงได้นำคณะนักลงทุนและผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกของ JILC เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ EEC และ SEZ เพื่อให้ได้รับทราบถึงรายละเอียดและข้อมูลเชิงลึกของนิคมอุตสาหกรรม เช่น สิทธิประโยชน์ โปรโมชั่น ความคืบหน้า การอำนวยความสะดวกและความเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดความสนใจในการลงทุนบนพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
นายจักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17–21 กันยายน 2561 ซึ่งตลอดสัปดาห์ได้นำคณะผู้ประกอบการและนักลงทุนญี่ปุ่นกว่าเข้าชมนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และ SEZ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดสงขลา โดย กนอ.ได้นำเสนอพื้นที่นิคมฯ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการรองรับการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งผลจากการดำเนินกิจกรรมพบว่า ในพื้นที่ EEC โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนมากที่สุด ส่วนพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน SEZ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจในการประกอบกิจการเช่นเดียวกัน เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทย มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่ยมทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคอย่างดีเยี่ยม
สำหรับ คณะนักลงทุนและผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นที่เดินทางมาครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นนักลงทุนในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับ กนอ. และหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทยในการพบปะหารือและเจรจาธุรกิจ พร้อมนำไปสู่การเป็นพันธมิตรทางการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันในอนาคต อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้เตรียมความพร้อมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนในพื้นที่ EEC และ SEZ เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 9,500 ไร่ รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมด้วยบริการด้านสาธาณูปโภค สิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริการด้านดิจิทัลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้มีความมั่นในการขยายกิจการในประเทศไทย นายจักรรัฐ กล่าวสรุป