เนื้อหาวันที่ : 2018-09-24 11:54:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1235 views

ดีป้าปลื้ม ขอนแก่น-ภูเก็ต คว้ารางวัลสมาร์ทซิตี้ยอดเยี่ยมระดับเอเซียแปซิฟิคประจำปี 2561

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่จังหวัดภูเก็ตและขอนแก่นพัฒนาร่วมกับดีป้า ได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้ชื่อรางวัล IDC Smart City Asia Pacific Awards (SCAPA) ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นโดยไอดีซี ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านไอซีทีชั้นนำของโลก โดยโครงการ “ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านสาธารณสุขและการบริการสังคมดีเด่น ส่วนโครงการ “ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม หอสมุด และพื้นที่สาธารณะดีเด่น

“ทั้ง 2 โครงการนั้นเป็นโครงการที่ถูกขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือระหว่างดีป้า หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ภาคเอกชน และสตาร์ทอัพ ที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดภูเก็ต จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 19 โครงการที่ได้รับรางวัล จาก 148 โครงการที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความโดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีและดาต้า เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้พัฒนาจังหวัดและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยไอดีซีได้มอบรางวัลชนะเลิศให้กับตัวแทนของจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนของจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนของดีป้า ภายในงาน Digital Thailand Big Bang 2018” ดร.ณัฐพล กล่าว

สำหรับขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านสาธารณสุขและการบริการสังคมดีเด่น เป็นโครงการริเริ่มที่ดีป้าร่วมมือกับจังหวัด โรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลอื่น ๆ ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่ และรวมถึงสตาร์ทอัพต่าง ๆ ในการมุ่งพัฒนาให้ขอนแก่นกลายเป็น Smart Health Care & Medical Hub โดยประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.รถพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Ambulance) ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล ไอโอที เทคโนโลยีหุ่นยนต์  และเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มกระบวนรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงที่โรงพยาบาล 2.บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกันที่ใช้ประโยชน์จากสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (Smart Wristband) และระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เพื่อตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น ตรวจวัดความดัน ตรวจวัดชีพจร และให้คำแนะนำด้านสุขภาพหรือความช่วยเหลือด้านสุขภาพกับประชาชน (3) อยู่ในระหว่างการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงได้  

โครงการเมืองอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่นยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผ่านการทำงานร่วมกับบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด และบริษัท Jump Up จำกัด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และนักลงทุนในท้องถิ่น ในการพัฒนามิติอื่น ๆ ของจังหวัด  เช่น โครงการ Smart Bus เพื่อให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันและระบบต่าง ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นหลัก หรือโครงการ Smart Parking เพื่อลดปัญหาที่จอดรถให้กับสถานที่ราชการที่มีสภาพแออัด เป็นต้น

ด้านภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม หอสมุด และพื้นที่สาธารณะดีเด่น เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและปลอดภัย โครงการนี้ประกอบไปด้วย (1) การให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรีทั่วเมืองภูเก็ต การพัฒนาแอปพลิเคชัน Phuket Smart City และบริการสายรัดข้อมืออัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (2) การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ตรวจจับป้ายทะเบียน การจดจำใบหน้า และระบบติดตามเรือ (3) ระบบจัดการน้ำเสียที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (4) การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลของเมือง ที่มีการอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่นกัน ผ่านการใช้งานเซ็นเซอร์ไอโอที ในการวัดปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำ คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติจากน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม และยังมีการผลักดันให้เกิดการปรับตัวของผู้ประกอบการในจังหวัดด้วยดิจิทัล ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพรายใหม่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดอีกด้วย

โดยสำหรับรางวัลนี้นั้นไอดีซีได้ทำการประเมินโดยให้เกณฑ์การประเมินที่ครอบคลุม ผ่าน 6 ขั้นตอนการประเมิน ตั้งแต่การคัดเลือกเบื้องต้น การประเมินเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากไอดีซีทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก (50%) การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงคะแนนเสียง (25%) และประเมินโดยสภาที่ปรึกษาระหว่างประเทศ (25%)