เนื้อหาวันที่ : 2018-09-24 11:36:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1485 views

โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย คว้ารางวัลจ้าวเวหา แชมป์โดรนมิชชั่น พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 23 กันยายน ที่งานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 อิมแพ็ค เมืองทองธานี – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศผลจ้าวเวหา แชมป์แข่งขันบังคับโดรนในศึกปีกหมุนประลองปัญญา: โดรนมิชชั่น ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทปีกหมุนประลองปัญญา แบบปีกหมุน 4 ใบพัด โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นประธานมอบถ้วยรางวัลในครั้งนี้ สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ประเภทปีกหมุนประลองปัญญา (Drone Mission) สนามชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ประจำปี 2561 ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 1 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม ทีม B  ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 2 โรงเรียนขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 3 โรงเรียนเซนต์แอนโทนี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ชนะเลิศ รางวัลที่ 4 ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเด็กได้ทำงานเป็นทีม รักษากฎ กติกา รักษาเวลา และมีความเข้มแข็ง ที่สำคัญสอนให้เด็กใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพ ให้เด็ก ๆ สามารถเขียนโปรแกรมได้ โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่เชื่อมโยงกับดิจิทัลเราพยายามหากิจกรรมที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหันมาสนใจเทคโนโลยีที่นอกจากจะเพื่อความเพลิดเพลินแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคด้วย

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ดีป้า ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกันจัดการแข่งขันอากาศยานปีกหมุน “ปีกหมุนประลองปัญญา (Drone Mission)” ชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2561 ในงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ฝึกฝนทักษะการบิน และสร้างแรงบันดาลใจ และดึงผู้ที่มีศักยภาพให้เข้ามาสัมผัสและเห็นถึงความสำคัญของโดรนที่จะเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจในอนาคต

“การบังคับโดรน ไม่ได้มีแค่ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่การบังคับโดรนยังช่วยฝึกทักษะด้านร่างกาย ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของมือและสายตาขณะควบคุมโดรนด้วยรีโมต ฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักการวางแผน เชื่อมโยงเหตุและผล เมื่อพวกเขาต้องเลือกคำสั่งต่างๆ เพื่อให้โดรนทำในสิ่งที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น กลไกของโดรนยังช่วยให้เด็กๆ ได้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ หรือพื้นฐานวิศวกรรมง่ายๆ อีกด้วย”

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าววว่า “เรามีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบทั้งหมด 16 ทีม โดยผู้เข้ารอบมีตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ต่อมาได้แข่งขันเหลือ 4 ทีมเพื่อเข้ารอบสุดท้าย ชิงจ้าวความเร็ว ในวันนี้ และการแข่งขันบังคับโดรนในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะ ปัญญาและไหวพริบเพื่อก้าวสู่ความเป็นแชมป์ ชิงเงินรางวัลกว่าแสนบาท

นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมแข่งขันโดรนมิชชั่น หรือ การแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ รายการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” ที่จัดขึ้นนี้ เป็นกิจกรรมที่จัดมาต่อเนื่อง 17 ปี ซึ่งการได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมนี้ภายในงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018  ไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนความเป็นนักบิน แต่ยังได้เห็น ได้สัมผัส และเรียนรู้ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อยู่ในงาน ทั้งด้านการเกษตร ด้านแผนที่ และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากเยาวชนจะได้แรงบันดาลใจในการเป็นนักบินแล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักและความสำคัญของโดรนต่อภาคธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย เพราะการใช้โดรนบังคับในปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น การบินเพื่อสำรวจพื้นที่การเกษตร สามารถสร้างรายได้ครั้งละ 40,000 บาท หรือการทำแผนที่สำรวจอย่างอิมแพ็ค สามารถทำรายได้สูงถึง 2 แสนบาทเลยทีเดียว