เนื้อหาวันที่ : 2018-09-13 17:39:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1488 views

เดลต้าจัดสัมมนาสุดยอดผู้นำอุตสาหกรรม มุ่งผลักดันเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

นายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

ผู้ให้บริการโซลูชั่นอัจฉริยะอย่างยั่งยืนร่วมหารือแนวทางปฏิบัติแห่งอนาคตสำหรับการเชื่อมโยงศูนย์กลางเมืองของประเทศไทย

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ในวันที่ 18 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ งานสัมมนานี้ได้รวบรวมผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนเพื่อมาพบปะและหารือเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศไทย โดยหัวข้อสำหรับงานประชุมอุตสาหกรรมที่เดลต้าจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้คือ Innovations for Smart Cities หรือ นวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดและหนทางที่จะผลักดันเมืองไทยให้กลายเป็นศูนษ์กลางการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอัจฉริยะมากขึ้น

สมาร์ทซิตี้ หรือ เมืองอัจฉริยะ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อรวบรวมข้อมูลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเมือง โครงการริเริ่มไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลมีวัตถุประส่งค์เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

"เมืองอัจฉริยะ คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับความท้าทายและโอกาสแห่งโลกสมัยใหม่" นายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว “เมืองต่าง ๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบันจักต้องมีความตระหนัก ใส่ใจและการใช้โอกาสจากเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ในฐานะพลเมืองของโลก เราจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานและไลฟ์สไตล์ในอุดมคติเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" นายเซีย เชน เยน กล่าวเพิ่มเติม

โครงการต่าง ๆ ที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้งในภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น โครงการเหล่านี้มุ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละท้องถิ่นสร้างเมืองอัจฉริยะสำหรับการท่องเที่ยว การเกษตร การแพทย์ และการคมนาคมขนส่งให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2566 โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีแผนการฟื้นฟูเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และได้ให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมอัจฉริยะและการพัฒนาธุรกิจเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน

ในขณะที่โครงการนำร่องเหล่านี้ได้เริ่มโครงการไปบ้างแล้วในบางจังหวัด แต่สำหรับกรุงเทพมหานครยังมีความท้าทายอีกมากที่จะเปลี่ยนเมืองหลวงให้เป็นเมืองอัจฉริยะ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐบาลของกรุงเทพฯ กำลังพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นโครงการอาคารสีเขียว การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ทันสมัยและการขยายระบบไอที

อินเตอร์เน็ตคือทุกสิ่ง IoT มาช่วยพัฒนากรุงเทพฯดั่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองใหญ่ ๆ

ภายในงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีอัจฉริยะล่าสุดจากการนำเสนอและการเสวนาในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดงานด้วยหัวข้อ "ก้าวสู่อนาคตแห่งเมืองอัจฉริยะ" เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องให้กับงานสัมมนาครั้งนี้

ไฮไลท์สำคัญของงานในครั้งคือการเสวนาภายใต้หัวข้อ “อนาคตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจากการไฟฟ้านครหลวง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เข้าร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งนี้ แขกในงานสามารถเข้าร่วมการสนทนาระหว่างช่วงถาม–ตอบ ได้เช่นกัน

อีกหนึ่งไฮไลท์คือการเสวนาภายใต้หัวข้อ “อนาคตในอีกทศวรรษ: คำทำนายอนาคตประเทศไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ธนาคารกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

"เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งกับความสามารถในการค้นพบศักยภาพอันหลากหลายของประเทศไทยจากเหล่าวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานสัมมนาของเดลต้าในครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมาย ในการพัฒนาไปสู่การสร้างเมืองน่าอยู่และเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกได้” นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว

ด้วยการดำเนินงานในประเทศไทยกว่า 30 ปี เดลต้าได้พัฒนาแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียน ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และบิ๊กดาต้า โดยธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศในอนาคต