กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวางตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ.2558–2579) ทั้งในส่วนของการส่งเสริมเทคโนโลยีสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนผลิตความร้อนและการผลิตไฟฟ้า ทำให้สถานประกอบการและผู้ใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญและใช้พลังงานทดแทนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานฯ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้พลังงาน จึงได้มีการจัด “โครงการรณรงค์ความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน” เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยตามแหล่งชุมชน โรงงาน และฟาร์มต่าง ๆ ที่มีการผลิตและใช้พลังงานทดแทน 3 รูปแบบคือ ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล และ Solar PV Rooftop โดยได้พัฒนาสื่อในรูปแบบสื่อสารคดี และการ์ตูนแอนิเมชั่น 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ พม่า ลาว เขมร และยาวี เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้กับบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับระบบผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อเปรียบเทียบสถิติที่ผ่านมาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องดังกล่าว พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ จากการผลิตและใช้พลังงานทดแทนทั้ง 3 เทคโนโลยีในประเทศลดลง โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากก๊าซชีวภาพโดยช่วงก่อนการดำเนินโครงการ (ปี 2549-2554) เกิดอุบัติเหตุที่ปรากฏเป็นข่าวนำเสนอในสื่อมวลชนกว่า 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 20 ราย และมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท และในช่วงที่มีการดำเนินโครงการรณรงค์ความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (ปี 2555-2560) เกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ผู้บาดเจ็บ 3 ราย และมูลค่าความเสียหาย 1 ล้านบาท เฉลี่ยเพียงปีละ 1 ครั้ง ด้วยเหตุนี้การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านความปลอดภัยจากการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัวด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ดร.รุ่งฤดี ฉันทวิทย์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า “โครงการรณรงค์ความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนปี พ.ศ.2561นี้ ได้คัดเลือกผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานทดแทนภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ด้านพลังงาน จำนวน 280 คน จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เข้าอบรมเพื่อพัฒนาเป็นวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยด้านพลังงานภาคประชาชน ออกปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยจากการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในสถานประกอบการ ฟาร์ม และชุมชน จำนวนมากกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ เรามีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นทุกๆปี เพื่อที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆอยู่เสมอ โดยจะเพิ่มหลักสูตรให้สอดคล้องกับปีนั้น ๆ เช่น ปีที่แล้วก็เพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับอุปกรณ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุเข้าไป ส่วนปีนี้ก็เพิ่มหลักสูตรเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น โดยการพัฒนาเรื่องของทักษะการสื่อสารให้กับตัวหัวหน้ากลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ให้กับตัวเครือข่ายของผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจง่ายขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปใช้ปฏิบัติจริง”
“จากที่เราทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จของเราก็จะมองในแง่ของอุบัติเหตุภายในโรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าเปรียบเทียบกับตอนแรกที่มีข่าวให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ ในเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน แต่พอได้ทำโครงการนี้ขึ้นมาแล้วตอนนี้แทบจะไม่มีข่าวอุบัติเหตุโรงงานแบบนั้นให้เห็นอีกเลย โดยโครงการที่เราทำขึ้นมาทุก ๆ ปีนั้นมีความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อุบัติเหตุมีการลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นอาจจะคิดเป็น 0% เลยก็ว่าได้เพราะว่าปัจจุบันนี้นั้นไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกเลย” ดร.รุ่งฤดี กล่าวทิ้งท้าย