เนื้อหาวันที่ : 2007-11-29 14:11:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1525 views

สวทช. จับมือ ส.อ.ท. ตั้ง คลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หนุนวิจัยพัฒนา

สวทช. จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้ง "คลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม" แห่งแรกของไทย พร้อมดัน iTAP เป็นหัวหอกในการเชื่องโยงงานวิจัยและพัฒนา เข้าให้บริการเทคโนโลยีแก่สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั่วประเทศ

 

 

สวทช.  จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้ง "คลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม"  แห่งแรกของไทย  พร้อมดัน iTAP เป็นหัวหอกในการเชื่องโยงงานวิจัยและพัฒนา เข้าให้บริการเทคโนโลยีแก่สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั่วประเทศ  ผอ.สวทช. ชี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ หันมายืนบนฐานเทคโนโลยีของตนเอง พร้อมยกระดับเทคโนโลยีของประเทศจากงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต่อไป

 

จากภาวะการแข่งขันทางการค้าและการอุตสาหกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ที่รวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงสูง ถือเป็นยุคของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และการสื่อสารที่ไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ เสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทยในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้

 

รศ.ดร.ศักรินทร์  ภูมิรัตน  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.)  กล่าวว่า  โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP ) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ของสวทช. ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดตั้ง โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ( Industrial Technology Clinic ) ” เพื่อให้บริการเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย

 

โดยจะให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการทั่วไป ในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศรวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

เชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้  จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย และยกระดับความสามารถบนพื้นฐานโครงสร้างทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะปูทางให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแลกเปลี่ยนออฟฟิตกันเพื่อให้การบริการมีความใกล้ชิด และรวดเร็วยิ่งขึ้น"

 

นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ( ส.อ.ท.)  กล่าวว่า  จากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทั้งภายในและภายนอก  อาทิ  ปัจจัยราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาซับไพร์สในสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ66 ของ GDP ขณะที่ความได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติของไทยไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป

 

เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านต่างมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาตนเอง  เพราะไม่เพียงแต่เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเท่านั้น หากต้องทำการปรับปรุงและแสวงหากระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นด้วย 

ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ จึงมีแนวทางในการดำเนินงานที่จะเชื่อมโยงระหว่างภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับภาคอุตสาหกรรม  เพื่อหาผู้ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทเศ  โดยเฉพาะไทยมีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือ SMEs อยู่เป็นจำนวนมาก และยังต้องพัฒนาอีกมาก"

 

ถือคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จึงเป็นโครงการหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีการพัฒนาและมีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการได้รับคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทางโครงการ iTAP ของ  สวทช. จัดหาเข้ามาเพื่อให้บริการวินิฉัยปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ"

.

"รวมถึงการให้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการดำเนินงานที่เป็นอยู่  ถือว่าสมาชิกฯ จะได้รับประโยชน์ทางด้านเทคนิค และเทคโนโลยีจาก iTAP ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมของไทย  และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs ได้พัฒนาศักยภาพและขีดความามารถของตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไปได้" รองประธานส.อท.กล่าว

.

ด้าน รศ.ดร.สมชาย  ฉัตรรัตนา   รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (สวทช.) ในฐานะกำกับดูแลโครงการ iTAP  กล่าวเพิ่มเติมว่า  "ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นนิมิตที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย โดยผีมือคนไทย เพื่อให้สามารถยืนบนฐานเทคโนโลยีของตนเองได้  และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องรับจ้างผลิตสินค้าให้กับต่างประเทศอีกต่อไป แต่สามารถจะยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาสินค้าสร้างแบรนด์ส่งออกไปจำหน่ายได้เอง"

 

" iTAPในฐานะหัวหอกของสวทช.สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเชื่อมโยงจุดแข็งของสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะเป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และมีสมาชิกอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การให้บริการเทคโนโลยีของ iTAP สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 1 ปี ล่าสุดมีสมาชิกจากสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมนำร่องแล้ว 6 ราย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 50 รายและสามารถขยายโครงการต่อหากได้รับการตอบรับที่ดี"    

 

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการ iTAP ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน  มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามารับบริการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยี จนกระทั่งปรับปรุงกระบวนการผลิตแล้วกว่า 5,000 ราย และในปี 2550 ที่ผ่านมา ยังได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จำนวน 100 ล้านบาท

 

 เพื่อใช้สนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการไปแล้วกว่า 90 ล้านบาท โดยหน้าที่หลักของ iTAP จะเป็นผู้ประสานงาน เข้าไปวิเคราะห์ปัญหาในเบื้องต้น  และจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในเครือข่ายทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ และจากพันธมิตรแหล่งต่าง ๆ ที่มีความชำนาญ อาทิ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในสังกัด สวทช. เข้าไปให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างตรงความต้องการเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจนานกว่า 1 ปีขึ้นอยู่กับความยากง่าย 

 

นอกจากนี้ iTAP ยังได้มีการประเมินความพึงพอใจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทุกๆ 4  ปี  โดยมีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดำเนินการประเมินพบว่า เงินทุก 1 บาทที่ iTAPให้การสนับสนุนจะตอบแทนกลับคืนสู่ประเทศกว่า 6 เท่าในแง่ของผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น  การจ้างงานเพิ่มขึ้น และมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ซึ่งในปีนี้ยังได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการประเมินและวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ iTAP เข้าไปให้การสนับสนุนขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล