เนื้อหาวันที่ : 2018-07-19 09:47:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1536 views

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเครื่อง ปรับปรุงทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ เตรียมผลักดันไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New S-Curve) โดยได้เริ่มต้นผลักดันการลงทุนสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ EEC ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนกลาง โดยหวังเชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น เร่งขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ  และนำร่องขยายผลการพัฒนาพื้นที่ (Local Economy)ด้วยแนวคิดแบบ EEC ต่อเนื่องในภูมิภาคอื่นที่เหมาะสมทั่วประเทศ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ จากศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ทั้งด้านวัตถุดิบที่หลากหลายและทักษะด้านการผลิต จึงได้เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเน้น

ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน และขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพแล้วในหลายพื้นที่  ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท แบ่งเป็น Biochemicals 5,000 ล้านบาท Food ingredient 120 ล้านบาท Feed ingredient 300 ล้านบาท และ Biopharma 6,940 ล้านบาท และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 187,205 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastics Biochemicals และ Biopharmaceutical

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ จะได้เร่งให้เกิดการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อให้มีการดำเนินการเชิงบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยจะเร่งดำเนินการในส่วนมาตรการเร่งด่วน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญให้อุตสาหกรรมชีวภาพเกิดขึ้นได้ ดังนี้

1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม

2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

3)  กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง โดยในหลักการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ควรอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูป หากแยกกันอยู่จะส่งผลกระทบด้าน Logistic ถนนชำรุด สูญเสียพลังงาน และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เป็นต้น

ดร.ณัฐพล กล่าวต่ออีกว่า “สำหรับการผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 จะเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ กลุ่ม New S-Curve และเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) เพื่อผลักดันภาคเอกชนให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ ในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น)มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเกษตรไทยเกิดการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Smart Farming หรือฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้กับพืชเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่

หลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรสู่การเป็นสินค้าชีวภาพ เกิดการพัฒนาในภาคเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาสู่ฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรไทย โดยคาดว่าการดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นระหว่าง 65,000 ถึง 85,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2570 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรมากกว่า 80,000 ครัวเรือน เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และเกิด High-tech Labor/Knowledge Workers เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน  ดังนั้น การกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน“ ดร.ณัฐพล กล่าวสรุป