เนื้อหาวันที่ : 2018-07-16 17:32:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1482 views

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทัพใหญ่ขับเคลื่อน SME 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนขานรับนโยบายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ชูศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ดัน จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ต้นแบบ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างกิจกรรม SMEs สัญจร พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 1 ว่ากระทรวงมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน SME 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และของฝากของที่ระลึก

“เรามีมาตรการที่จะช่วย SME ในพื้นที่ภาคเหนือให้พัฒนาตนเอง และยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยกลไกลประชารัฐที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งแนวทางสำคัญหนึ่งก็คือ การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ และสร้างโอกาส ให้สินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดโลกผ่าน E-Commerce แพลตฟอร์ม” นายอุตตม กล่าว

การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จะทำผ่านศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ต้นแบบ และพัฒนาอัตลักษณ์ (Local Identity) จากลักษณะเด่นของธุรกิจทางภาคเหนือ  เพื่อสร้างเศรษฐกิจและชุมชน โดยศูนย์นี้เป็นการนำรูปแบบจากศูนย์ ITC ต้นแบบที่กรุงเทพมหานคร มาปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้บริการและสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ของฝากและของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟ ชา และสมุนไพร พร้อมกันนี้ ได้มีการเปิดหน่วยสกัดพืชน้ำมันแบบสกัดเย็น (Oil Extraction Unit) ที่ศูนย์ ITC อีกด้วย

ศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ผนึกกำลังตามนโยบายแนวทางประชารัฐในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ วิจัยและออกแบบ และผลิตสินค้าตลอดจนบ่มเพาะ SME ให้สามารถปรับตัว พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น สภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ เครือข่าย Northern Thailand Food Valley เครือข่ายเชียงใหม่เมืองกาแฟ เครือข่าย Chiang Mai Digital Hub สมาคมการค้าผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะและอุตสาหกรรมไทย (MiC-T) สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือเชียงใหม่ (NOHMEX) สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย (ATED.CM) สถาบันการศึกษา และหน่วยงานร่วม อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP), ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช., สวทช.ภาคเหนือ สำนักงานอุตสาหกรรมเขตภาคเหนือตอนบน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมาอย่างต่อเนื่อง

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้พื้นที่ภาคเหนือยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนา  ด้วยการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง ซึ่งเป็น 1 ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV” ที่เน้นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ควบคู่กับการบริหารจัดการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บทพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยชุมชนออนใต้ นับเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผนวกกับวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ทำให้เป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ในปี 2561 กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาขยายเครือข่ายหมู่บ้าน CIV ไปยัง “ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ” ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชุมชน รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผ้า กระดาษสา และตุ๊กตาไม้ สามารถผลิตและจำหน่ายเป็นของที่ระลึกประจำถิ่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กระทรวงฯ จึงมีแนวทางผลักดันให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง โดยได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการพัฒนาชุมชน เข้าไปดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น กานสร้างมักคุเทศน์ นักประชาสัมพันธ์ และสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไตลื้อ รวมถึงสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยว พร้อมจัดที่พักโฮมสเตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยระหว่างกิจกรรม SME สัญจร ในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในทุกมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดังนี้

1) Skill Up ด้านการส่งเสริมการพัฒนาคนให้สอดรับกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยใช้ Smart Tools โดยเฉพาะการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับสังคมดิจิทัล มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรให้ได้ 1,000 คนภายในปีแรก

2) Startup ด้านการสนับสนุนการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้า ภาคบริการ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการส่งเสริมการนำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมด้วยการเน้นการสร้างสรรค์การออกแบบ (Design) และการใช้งาน (Function) รวมถึงการให้ความสนับสนุนด้านกองทุนร่วมลงทุนให้กับกลุ่ม Startup ด้วย

3) Scale up การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมุ่งให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ที่เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถนำมาผลิตภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อนำไปทดสอบตลาดสากลได้

4) เชียงใหม่เมืองกาแฟ มุ่งเน้นพัฒนากาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยสู่ตลาดโลกภายใต้โครงการ Northern Boutique Arabica Coffee โดยการขับเคลื่อนในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมการตลาด  

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเข้าสู่ยุค 4.0 โดยดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการเสริมแกร่งให้แก่ SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อขยายตลาดที่เกิดจากความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ACMECS ของ 5 ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง หรือกรอบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของตนเพื่อก้าวสู่การแข่งขันในโลกสากลได้

การมุ่งพัฒนา SME เป็นพันธกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากโดยเริ่มจากภาคเกษตรให้มีการปรับตัว พัฒนาผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลผลิต โดยการต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้ไปสู่ SME 4.0 พร้อมกัน

“เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ได้ปรับเป็นศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็น Platform สำคัญในการสนับสนุนยกระดับ SME ในทุกมิติ  เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่ม Productivity รวมถึงการเข้าสู่ช่องทาง การตลาดอย่าง E-Commerce เพื่อเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกได้” นายอุตตม กล่าวสรุป