ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. ขนงานวิจัยและเทคโนโลยี ต้นทุนต่ำที่ทุกคนเข้าถึงได้ กระจายสู่ภูมิภาคอีสานตอนล่าง ด้านผู้ว่าอุบลฯ เห็นประโยชน์ “โรงเรือนพลาสติกผลิตผักคุณภาพ” นวัตกรรมวิจัยจาก สวทช. หนุน ขยายอีก 50 โรง หวังขยายพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เมืองอุบลฯ ให้ครบ 2 แสนไร่ ใน 4 ปี (ปี 61-64)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและแสดงผลงานวิจัย “สวทช.–วิทย์สัญจร” ครั้งที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรออกสู่สังคม ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ นักวิจัย เกษตรกร คณาจารย์ นักเรียน และประชาชนในภาคอีสานตอนล่าง เข้าร่วมงานกว่า 600 คน
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทในการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในปี 2561 นี้ สวทช. เดินหน้าเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิด NSTDA Beyond Limits หรือ “นวัตกรรมเหนือคาดหมาย พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 4.0” มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงการลงนามความร่วมมือการใช้ วทน. ในการส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคกับจังหวัดในภาคอีสานตอนบนจำนวน 8 จังหวัด (อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ) และการรับมอบ Technology for Better Society
โดยในรอบปีที่ผ่านมาที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่
ด้านชุมชน สวทช. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น เทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสงและการบริหารจัดการแบบครบวงจรให้กับกลุ่มวิสาหกิจ เกษตรอินทรีย์โนนกลาง บ้านหนองมัง จ.อุบลราชธานี โดยขยายผลทั่วพื้นที่อีสานจำนวน 102 หลัง ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 300 ครัวเรือน และในปี 2561 จังหวัดอุบลราชธานี ได้เตรียมใช้งบจังหวัดเพื่อขยายผลโรงเรือนฯ ให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี อีก 50 หลัง รวมทั้งได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นจุดสาธิตใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม และนครพนม ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานเป้าหมาย 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2561–2564) จำนวน 200,000 ไร่ และมีเป้าหมายให้ได้ 1,000,000 ไร่ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ด้วย
ด้านผู้ประกอบการ ในปีนี้ สวทช. สนับสนุน SMEs ผ่านโปรแกรมสนับสนุน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP จำนวน 129 โครงการ ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 23 โครงการ และเป็นโครงการในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 6 โครงการ โดยปีนี้เกิดผลกระทบจากโครงการที่ผ่านมาในภาคอีสานแล้วกว่า 780 ล้านบาท
ด้านการพัฒนากำลังคน สวทช. ได้มอบทุนการศึกษาวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาให้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาในภาคอีสานทั้งสิ้น 47 ทุน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของทุนทั้งหมดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นทุนที่มอบให้แก่นักศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 12 ทุน นอกจากนั้นแล้ว สวทช. ได้ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาให้กับครูผู้สอนในโรงเรียน 31 แห่งของภาคอีสาน โดยมีหลักสูตรที่นำไปใช้ 5 หลักสูตรตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ในส่วนของโครงการตามพระราชดำริสมเด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการจัดค่ายให้แก่โรงเรียนในโครงงานค่ายสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวและสร้างชิ้นงาน 3 มิติ (3D Printer) จำนวน 6 ครั้ง รวม 720 คน นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย และโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright) ตามนโยบายรัฐบาลกับการสร้างคนให้พร้อมในยุค Thailand 4.0 ที่ สวทช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 283 แห่ง คิดเป็น 36.5% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ โดยมีโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำนวนรวม 250 แห่ง และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี 23 แห่ง
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ ไฮไลต์ที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายพิเศษและการสัมมนา เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและมีต้นทุนที่ต่ำ (Accessible) ที่ประชาชนต้องนำไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมของตนเอง อาทิ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อชุมชน” “สวทช. กับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0” “SME ไทยเข้มแข็งด้วยบริการจากภาครัฐ” เทคนิคสู้ชีวิต ทำธุรกิจให้ติดปีก พร้อมด้วยเสวนา “เกษตรกรรุ่นใหม่ ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” “วิทย์เพื่อธุรกิจ” รวมถึงการบูรณาการ STEM Education สู่การปฏิบัติจริง กิจกรรมเรียนรู้การสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรกลแบบง่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย และบริการภาคเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ ของ สวทช. เครือข่ายพันธมิตร ชุมชน และการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ ชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต อาทิ สารยืดอายุน้ำยางสดสำหรับทำยางแผ่น ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในพืชตระกูลแตง 3 ชนิดในคราวเดียวกัน นวัตกรรมลูกอมเจลลี่หญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงาแบบครบวงจร เป็นต้น
รองอำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สวทช. ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พร้อมทั้งมีการบูรณาการนำไปใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคุณงามความดีแก่บุคคลต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงหนือ จึงได้ มอบโล่เชิดชูเกียรติรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง” ให้กับบุคคลที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ใน 2 สาขา ได้แก่
สาขาพัฒนาสังคม ได้แก่ นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง ผู้เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้บนเส้นทางอาชีพเกษตรกร ยกระดับการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เติมเต็มด้วยเทคโนโลยี ผลักดันแนวคิดส่งต่อความรู้สู่สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง และร่วมกันกระจายความรู้สู่สังคมเกษตรผ่าน “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง” เกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในหลายพื้นที่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายปิยะทัศน์(ซ้าย) รับมอบรางวัลวิทย์แปงบ้านอีสารแปงเมือง สาขาพัฒนาชุมชน นายพฤฒิ (ขวา) รับมอบรางวัลวิทย์แปงบ้านอีสารแปงเมือง สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ จาก ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็กขึ้น เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของชาวมวกเหล็ก ให้ร่วมกันรักษาลำน้ำให้สะอาดสมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำป่าสัก และเป็นผู้ผลักดันและจัดตั้งกลุ่มโคนมอินทรีย์ขึ้น ให้เกษตรกรในบริเวณโดยรอบบริษัทฯ ดำเนินกิจการโคนมแบบเกษตรอินทรีย์คือ ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้นในทุกกระบวนการเลี้ยงโคนม ในส่วนของบริษัทแดรี่โฮม เป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมให้เกษตรกรโคนมปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมเป็น แบบเกษตรอินทรียและนำ ผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มจำหน่ายทั่วไป นอกจากนี้ยังมีผลงานวิชาการที่ได้ทำงานร่วมกับ ITAP และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลิตนมก่อนนอนซึ่งมี เมลาโตนินสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้มีปัญหา เรื่องนอนไม่หลับ รวมถึงโครงการโรงงานสีเขียว โดยมีผลงานวิจัยร่วมกับ ITAP และ มทส. เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความร้อน นำมาความร้อนเหลือทิ้งจากการทำความเย็นในห้องเย็นมาใช้กระบวนการผลิตนมพร้อมดื่ม และทำกระบวนการบำบัดขยะตลอดจนน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตาม สวทช. คาดหวังว่าการจัดงาน “สวทช.–วิทย์สัญจร” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” จะเป็นการช่วยขยายผลการถ่ายทอดผลงานวิจัยออกไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปสู่โจทย์วิจัยที่ต้องพัฒนาต่อยอดในทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย เกษตรกร หรือแม้กระทั่งนักเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในด้านต่าง ๆ ให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานรากให้เข้มแข็งสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจระดับมหาภาคของประเทศต่อไป.
ข้อมูลเพิ่มเติม
ชื่อรางวัล “วิทย์แปงบ้านอีสานแปงเมือง”
- วิทย์แปงบ้าน ความหมายคือ การนำ (สร้าง/ปรับปรุง) วิทยาศาสตร์มาใช้ในชุมชน หรือพัฒนาชุมชน
- อีสานแปงเมือง ความหมายคือ เมื่อชุมชนมีความรู้แล้วนำมาต่อยอดในพื้นที่ ที่ใหญ่กว่าชุมชนนั่นหมายถึงเมืองหรือประเทศ
- คำว่า “แปง” ภาษาอีสานหมายถึง สร้าง หรือ ทำให้ดีขึ้น