ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต: ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Coding at School เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรในเด็กและเยาวขนไทย พร้อมชมนิทรรศการผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright และตัวอย่างอุปกรณ์จากโครงการ Fabrication Lab เพื่อเสริมทักษะความเป็นนวัตกรของเด็กและเยาวชนไทย สู่การเป็น Makers Nation ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหาร สวทช. ให้การต้อนรับ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับมอบนโยบายจากรัฐบาลโดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) นั้น การเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งให้คนไทยมีความคิดอ่านแบบวิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) นั้น สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างกลไกนี้คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันครอบครัว ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ความสามารถให้ทันกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาความสามารถด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ไปสู่อาชีพที่ตลาดต้องการและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการเป็น Makers Nation เพื่อต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย วทน. รวมถึงสังคมดิจิทัลที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประสบความสำเร็จ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Big Rock Project โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคม ตามแนวทาง “วิทย์สร้างคน” พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการ Coding at School Powered by KidBright และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเด็กและเยาวชนไทย สอดคล้องกับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและเรียนรู้ โดยจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ 1. การให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน 2. การสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ 3. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทยตามความเหมาะสม 4. การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี โดยการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมได้ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนที่เน้นความสำคัญของการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดงานในอนาคต อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เยาวชนของไทยจะเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหตุเป็นผล ส่งผลให้ประเทศไทย 4.0 เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ สร้างความมั่นคง และมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเด็กและเยาวชนไทย ภายใต้นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการวางรากฐานและปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาด้วยการกระจายองค์ความรู้ให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะโรงเรียนภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส อันจะเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย
โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกร ตลอดจนส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับสากลได้อย่างยั่งยืน (วิทย์สร้างคน) นอกจากนี้ ยังสร้างความทัดเทียมและลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาด้วยการกระจายองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการเรียนการสอนให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรผู้ฝึกสอน (Trainer) ผ่านการสอนในรูปแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) โดยเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายผลการนำสื่อการเรียนการสอนที่มาจากงานวิจัยไทยไปใช้อย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์และห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน (วิทย์เสริมแกร่ง)