เนื้อหาวันที่ : 2018-05-25 13:45:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1332 views

บีเคนิกซ์ นำทัพถกแผนกลยุทธ์ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลในภูมิภาค

มูลนิธิทีเอชนิค ร่วมกับ บีเคนิกซ์ จัดการประชุม BKNIX Peering Forum 2018 มุ่งถกแผนกลยุทธ์ที่จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย และบริษัท บีเคนิกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ได้จัดเวทีประชุม BKNIX Peering Forum 2018 ขึ้นเป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติ

“ปีนี้เป็นปีที่ .th อายุครบ 30 ปี เราจึงถือโอกาสอันดีนี้จัดงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเฉพาะต่อประชาคมอินเทอร์เน็ตไทย อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการจัดงานเสวนา “Living with disruption: Impact of Blockchain on Businesses” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนงาน “BKNIX Peering Forum 2018” ก็เป็นหนึ่งในการเฉลิมฉลอง 30 ปี .th รวมถึงงาน “ภาษาไทยในโลกอินเทอร์เน็ต” ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน และยังมีอีกหลายงานตามมา” ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าว

“ผมรู้สึกยินดีที่ BKNIX Peering Forum ยังคงเป็นเวทีที่ได้รับความสนใจจากทั้งสมาชิกและผู้ให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการคอนเทนท์ ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ให้บริการสื่อสัญญาณ และผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 140 คน จาก 15 ประเทศ” ดร.โคทม กล่าวเสริม

ด้าน ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิทีเอชนิค ผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติด้านการเป็น ผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตฮอล์ลออฟเฟม (Internet Hall of Fame) จากองค์กรอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (Internet Society) และรางวัลโพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด สำหรับผู้อุทิศตนทางด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นผู้ผลักดันให้โครงการ BKNIX เกิดขึ้น กล่าวว่า "ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย ประกอบกับการมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นกลางอย่าง BKNIX ทำให้ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับภูมิภาคนี้ ซึ่งควรจะได้มีการส่งเสริมและผลักดันจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพต่อการแข่งขันให้กับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม การที่มีจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในภูมิภาค ไม่ต้องไปแลกเปลี่ยนในประเทศที่ไกลออกไป จะทำให้ต้นทุนบริการอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานที่จะมีอินเทอร์เน็ตราคาไม่แพงไว้ใช้งาน รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในภูมิภาคอีกด้วย”

ทั้งนี้ภายในงาน BKNIX Peering Forum 2018 นี้ ประกอบด้วยหัวข้อที่กำลังอยู่ในความสนใจมากมาย อาทิ Panel discussion on Strategy for Thailand to become a regional IX hub, Network Infrastructure for IOT, Content Peering and Internet Ecosystem และหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก เช่น Philip Smith จาก NSRC, Matt Jansen จาก Facebook, รท.ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ อดีตเลขานุการรองประธาน กสทช., Champika Wijayatunga จากองค์กรบริหารอินเทอร์เน็ตสากล (ICANN) เป็นต้น

นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับวิทยากรดังกล่าวแล้ว ในงานยังจัดให้มีพื้นที่สำหรับการเจรจาหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs), ผู้ให้บริการโครงข่ายจัดส่งข้อมูล (CDNs), ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDCs), ผู้ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณ (Carrier), ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล (IXPs) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ อาฟกานิสถาน, ออสเตรเลีย, โบลิเวีย, กัมพูชา, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, เมียนมาร์, เนปาล, รัสเซีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งมีผู้อยู่ในธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมงานกว่า 150 คน

สำหรับงาน BKNIX Peering Forum 2018 ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ APNIC, ARISTA, Facebook, Huawei, Netflix, TCC Technology, 3BB, AWS, ICANN, INET, ISOC, NTT Communications, Throughwave, THNIC และ NSRC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานได้พบตัวแทนจากองค์กรเหล่านี้ในงานอีกด้วย