เนื้อหาวันที่ : 2018-05-18 09:35:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2049 views

เอ็นไอเอ – อีแกท ลงนามร่วมมือหนุนงานวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมจัดแข่งขันแฮ็คคาธอน แก้โจทย์พลังงานเพื่อชุมชน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ (NIA) ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT เพื่อส่งเสริมการนำโครงการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ รวมถึงสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนมีพื้นที่สำหรับแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ พัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม พร้อมเผยการจัดกิจกรรม Hackathon ในงาน Startup Thailand 2018  ขับเคลื่อนนวัตกรรม และยกระดับประสิทธิภาพด้านพลังงานในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน Energy 4.0

นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การจัดประชุมวิชาการ นิทรรศการ หรือกิจกรรมโครงการประกวดหรือแข่งขันกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการแข่งขันระดมความคิดแก้ปัญหาหรือการพัฒนาตามหัวข้อที่ได้รับภายในระยะเวลาที่กำหนด (Hackathon) รวมถึงโครงการประกวดหรือแข่งขันอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ให้สามารถนำเสนอแนวคิด หรือผลงาน เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ หรือ ธุรกิจใหม่ในด้านอื่น โดย NIA เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว และ 2) การกลั่นกรองและการประเมินศักยภาพโครงการวิจัยที่ได้รับทุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดย NIA จะจัดผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมประเมินศักยภาพและกลั่นกรองพร้อมให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะโครงการวิจัยดังกล่าว ทั้งในการพิจารณาเบื้องต้นและขั้นตัดสินการอนุมัติให้ทุน

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. กล่าวว่า ในยุคของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้หลายหน่วยงานเร่งปรับตัวเพื่อพัฒนาองค์กร ซึ่ง กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มากว่า 35 ปีแล้วเช่นกัน สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีเจตนาร่วมกันที่จะส่งเสริมการนำโครงการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ และธุรกิจใหม่ด้านอื่นๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนมีพื้นที่สำหรับแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม

ทั้งนี้ NIA และ EGAT ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแข่งขัน Hackathon ซึ่งเป็นการแข่งขันระดมความคิดภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ในงาน Startup Thailand 2018 งานแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2561 ในหัวข้อด้านเทคโนโลยีพลังงาน “Innovative Power Solutions for Thailand Community and Energy Sector” ประกอบด้วย 5 หัวข้อหลัก ได้แก่

1)   Firm Renewable Energy การนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามาช่วยเสริมระบบผลิตไฟฟ้าหลัก และการบริหารจัดการระบบผลิตพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

2)   Energy Storage การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน

3)   Electric Vehicle การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบสถานีชาร์จไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

4)   Smart City - Smart Grid การส่งเสริมและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

5)   Bio Economy การนำทรัพยากรธรรมชาติ จากพืช สัตว์ และสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือ แปรรูปเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลชมเชย 3 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ผู้ที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันที่ hackathon.wi.th/startupthailand ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่มีแนวความคิด ต้องการที่จะพัฒนาประเทศ เข้าร่วมแข่งขันกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคน จะได้แสดงศักยภาพด้านความคิดและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อตอบโจทย์และก่อเกิดเป็นนวัตกรรมให้ กฟผ. และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับทีมที่ชนะเลิศ กฟผ. จะให้การสนับสนุนด้านทุนวิจัย และพัฒนาแนวคิดให้เกิดเป็นนวัตกรรมและธุรกิจต่อไป” นายสหรัฐ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017 5555 หรือ www.nia.or.th